“ราชภัฏเทพสตรี” จัดนำร่อง! แลกเปลี่ยนนักศึกษาครูอาเซียน ประจำปีการศึกษา 59 ประเดิม!ที่ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย


คุณรณริน ผลนิโครธ ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี รายงานว่า โครงการนำร่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปีการศึกษา 2559 เป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

จัดขึ้นโดยเล็งเห็นว่า การแลกเปลี่ยนนักศึกษาเป็นกิจกรรมที่สถาบันอุดมศึกษาในทุกภูมิภาคของโลกดำเนินการ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา ที่ต้องการพัฒนาคนเพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ต้องการดึงองค์ความรู้จากนานาชาติมาพัฒนาประเทศ การประชาสัมพันธ์การศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ

ซึ่งจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน มีการเปิดเสรีทางการศึกษาและการเคลื่อนย้ายกำลังคนเสรีในตลาดแรงงานของภูมิภาค โดยตลาดแรงงานจะมีโอกาสในการเลือกจ้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญมากขึ้น การแข่งขันเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานสูงขึ้น

ปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ดังกล่าวนี้ ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาต้องเตรียมนักศึกษาที่กำลังจะเป็นบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรอบรู้และสามารถที่จะเป็นพลโลก เพื่อแข่งขันได้ในตลาดแรงงานระดับภูมิภาคและระดับสากล

โดยเฉพาะอาชีพครูนั้น นับว่ามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรทุกภาคส่วนของประเทศชาติ ดังนั้น การให้นักศึกษาครูได้มีโอกาสไปศึกษาและฝึกประสบการณ์การสอนในต่างประเทศ เป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการกระตุ้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เรียนรู้ระบบการศึกษา วิธีการศึกษา การจัดการเรียนการสอนในประเทศอื่นๆ

เรียนรู้การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม เรียนรู้วิชาการใหม่ๆ เรียนรู้ภาษาต่างประเทศทั้งด้านวิชาการ และการสื่อสาร ได้เปิดโลกทัศน์สู่สากล รวมทั้งได้เครือข่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพครูในอนาคต

รวมทั้งจากการเข้าร่วมประชุมกับ The Southeast Asian Ministers of Education Organization (SEAMEO) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการพัฒนาการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอผลงานโครงการนำร่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ในปี พ.ศ.2558

โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯเข้าร่วมโครงการนำร่องในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ปี 2559 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ รับเชิญเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 แห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีด้วย

ดังนั้น ในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้ร่วมลงนามแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 14 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาครูมีประสบการณ์การสอนในประเทศในอาเซียน และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ

โดยกลุ่มเป้าหมายคือ นักศึกษาครูชั้นปีที่ 3-4 สาขาวิชาภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ จำนวน 6 คน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559

และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นครูแลกเปลี่ยนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้าขอพรจาก รศ.ดร.นันทนา แจ้งสุวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

ก่อนจะออกเดินทางไปเป็นนักศึกษาครูแลกเปลี่ยนโครงการนำร่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปีการศึกษา 2559 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย