“บิ๊กหนุ่ย” ยันยังไม่เคาะ!ปรับโครงสร้างบริหาร ศธ. จ่อ!ขอใช้ ม.44 สางปัญหา “กศจ.” แต่งตั้งโยกย้ายครูสะดุด


เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ร่างโครงสร้างบริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ใหม่ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ 

โดยมีการปรับจากโครงสร้างปัจจุบันที่มี 5 องค์กรบริหารหลัก ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ปรับใหม่เป็นมีสำนักงานรัฐมนตรีเป็นองค์การมหาชน และปลัด ศธ.ทำหน้าที่เป็นซีอีโอ หรือผู้บริหารสูงสุดในส่วนของข้าราชการประจำนั้น

ร่างโครงสร้างบริหารดังกล่าวเป็นของเก่า และยืนยันว่าตนไม่ได้ปล่อยออกมา เพื่อโยนหินถามทางแต่อย่างใด และถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหาร ศธ.จริง ก็จะทำอย่างเปิดเผย ไม่มีความลับอะไร และต้องสอบถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

ตนเข้ามาบริหารงานในกระทรวงศึกษาฯ 10 เดือน ก็พอมองเห็นแล้วว่ามีปัญหาอะไรในการบริหารบ้าง และที่ผ่านมาทั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างของ ศธ.เข้ามา เพียงแต่รูปแบบอาจจะแตกต่างกันบ้าง ซึ่งต้องมาดูและมีการเขย่าโครงสร้างกันใหม่

“ผมก็ไม่ปฏิเสธเรื่องการมีกรมวิชาการ ซึ่งตอนนี้มีการเสนอมา 2 รูปแบบ คือ 1.ยุบสำนักวิชาการของแต่ละองค์กร มารวมกันเป็นกรมวิชาการ และ 2.ตั้งเป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการวิชาการแห่งชาติ ตามข้อเสนอของ สนช. แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจ"

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า  การจัดทำโครงสร้างบริหารใหม่ของ ศธ.จะต้องแก้ปัญหาต่างๆ ได้ และคนในองค์กรยอมรับ และปฏิบัติได้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า โครงสร้างใหม่ของ ศธ.ควรมีการบริหารแบบซิงเกิลคอมมานด์ (Single Command) หรือการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ แต่ต้องมีระบบการคานอำนาจ

เพราะในอดีตที่ผ่านมา มีการกระจายอำนาจแล้วพบว่า การบริหารงานไม่เชื่อมต่อ อย่างไรก็ตาม ตนจะพยายามผลักดันเรื่องการปรับโครงสร้างบริหาร ศธ.ให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ก่อนเดือนกันยายน พ.ศ.2560 โดยออกมาเป็นกฎหมาย หรืออยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ซึ่งหากจะมีการปรับสถานะจากองค์กรบริหารหลักลดลงมาเป็นกรมจริง ในกฎหมายก็จะมีบทเฉพาะกาล เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเดิมไม่เสียสิทธิ์เดิมที่เคยได้รับ

“ส่วนเรื่องการทำงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งที่พบว่ายังมีปัญหาติดขัดในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหารสถานศึกษาภายในพื้นที่ต่างๆ เหตุเพราะติดขัดในข้อกฎหมายนั้น เร็วๆ นี้ ผมจะเสนอขอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) เพื่อออกคำสั่งแก้ไขข้อกฎหมายที่ยังติดขัดอยู่ต่อไป” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว