สกศ.ทำประชาพิจารณ์ร่างแผนการศึกษาชาติครบ 4 ภูมิภาคแล้ว ปรับใหม่ 4 ประเด็นใหญ่


ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สกศ.ได้ทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2574) ครบทั้ง 4 ภูมิภาคแล้ว ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเบื้องต้นต้องมีการปรับปรุง 4  ประเด็น ประกอบด้วย

ประเด็นแรก เรื่องสถานภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ทุกภูมิภาคไม่เห็นด้วยกับการให้ครูเป็นพนักงานราชการ และไม่เห็นด้วยที่จะโยกย้ายผู้บริหารการศึกษาทุก 4 ปี ดังนั้น 2 เรื่องนี้จะตัดออกและเขียนใหม่ เป็นแผนผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาแทน

โดยครูที่เข้าสู่ระบบจะเป็นข้าราชการเหมือนเดิม แต่จะมีระบบดูแลครูตั้งแต่การผลิต ซึ่งต้องมาพิจารณาว่าจะเป็นการผลิตระบบปิดที่จบแล้วมีอัตราบรรจุเป็นข้าราชการครูทันที หรือ ผลิตระบบเปิดและเปิดให้มีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นราชการครูได้เหมือนเดิม

ประเด็นที่ 2 การกำหนดให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมองกันว่า จะเป็นการผลักโรงเรียนไปสังกัดท้องถิ่น และเชื่อว่าจะหลุดจากระบบราชการในที่สุดนั้น ประเด็นนี้ก็จะไม่เขียนไว้ เพราะการที่โรงเรียนจะเป็นนิติบุคคล จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จะไม่มีการเขียนล็อคไว้ หรือบังคับว่าโรงเรียนไหนจะเป็นนิติบุคคล แต่จะส่งเสริมให้เป็นนิติบุคคล

ประเด็นที่ 3 เรื่องระบบงบประมาณทางการศึกษา เช่น กองทุนการศึกษา คูปองการศึกษา งบเพิ่มพิเศษ หรือเงินท็อปอัพ เป็นต้น จะมีการระบุหน่วยที่จะรับผิดชอบในการเตรียมการอย่างชัดเจน

และประเด็นที่ 4 เรื่องการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งจะเน้น 2 เรื่อง คือ การสร้างหลักสูตรกลาง และหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่าหลักสูตรกลาง 80% กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ และ 20% กำหนดโดยท้องถิ่นร่วมกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาคนตามความต้องการของท้องถิ่น

“เวลานี้ถือได้ว่า ได้มาถึงจุดที่กำลังจะเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติที่สมบูรณ์แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ในการปรับปรุง เพื่อให้ได้แผนที่สมบูรณ์  โดยจะพยายามให้ทันเสนอที่ประชุมสภาการศึกษาภายในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้   เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนสิงหาคม 2559 หาก ครม.เห็นชอบ หรือต้องปรับปรุงแก้ไข ก็จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559” ดร.กมลกล่าว