“ราชภัฏภูเก็ต” จัดประชุมวิชาการ! นำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 7


สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดประชุมวิชาการการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตครั้งที่ 7 ในหัวข้อ "พลวัตวิจัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่น และชุมชนอย่างยั่งยืน" ณ ห้องประชุมเล็ก ศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เมื่อเร็วๆ นี้

โดยมีนายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมด้วย ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผศ.ดร.กุลวรา สุวรรณพิมล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ตลอดจนบุคลากร นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมงาน

นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.มนัส สุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มาร่วมเป็นผู้บรรยายให้ความรู้ เเละถ่ายทอดประสบการณ์ในงานวิจัยพื้นที่ชุมชน

ผศ.ดร.ประภา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ โดยมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรผลิตผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการสนับสนุนงานวิจัยที่ต่อยอดร่วมกัน ในการใช้จัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา ที่มุ่งเน้นให้มีการรังสรรค์งานวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นที่ยอบรับต่อสาธารณชน

และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ให้งานวิจัยที่มีคุณค่าเหล่านี้ได้ไปใช้ประโยชน์ และเผยแพร่ในแวดวงทางด้านวิชาการอย่างกว้างขวาง

หน่วยงานสถาบันวิจัยและพัฒนา สำนักงานบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จึงได้จัดการประชุมดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและวิชาการให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย นักวิชาการ และนักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

“อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่ชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของชุมชน และสังคมอย่างแท้จริง"

ด้าน ผศ.ดร.กุลวรา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยทางด้านการศึกษา และผลงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งมีคุณค่าทางวิชาการ และเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษา ชุมชนและสังคม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้บุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา หรือผู้สนใจ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ตลอดจนข้อคิดเห็นในการพัฒนางานวิจัย อันจะทำให้เกิดงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และเพื่อเป็นการรวบรวมบทความทางวิชาการในรูปแบบของเอกสารเชิงวิชาการ และสร้างเครือข่ายในการพัฒนางานวิจัย ให้เกิดขึ้นระหว่างนักวิจัย สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ผ่านการนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์หรือนิทรรศการ (Poster Presentation) และโดยเฉพาะการนำเสนอรูปแบบบรรยาย (Oral Presentation)