สกศ.วิจัย-ถกเอกชน! ดันปฏิรูป “สะเต็มศึกษา” สู่วาระแห่งชาติ วางเป้าพัฒนากำลังคนทางเดียวกัน


ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะโฆษกสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สกศ.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินการวิจัยเรื่อง “การจัดทำข้อเสนอนโยบายการส่งเสริมการจัดการศึกษาด้านสะเต็มศึกษาของประเทศไทย”

และได้หารือร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนและผู้แทนสภาอุตสาหกรรม เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนด้านสะเต็มศึกษาสู่การปฏิบัติ โดยศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนด้านสะเต็มศึกษาผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเลขานุการ

รวมทั้งใช้กลไกคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (กวทน.) ที่มีกฎหมายรองรับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับ สกศ. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสะเต็มศึกษาของชาติ

“ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยในการกำหนดนโยบายการปฏิรูปสะเต็มศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากบุคลากรด้านการสอนสะเต็มศึกษายังมีไม่มาก และยังขาดความเข้าใจอย่างแท้จริงในการนำสะเต็มศึกษาไปสอน โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน”

โฆษก สกศ. กล่าวว่า จากการศึกษาการพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาด้านสะเต็มศึกษา 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่ามีแนวทางที่เหมือนกัน คือทุกประเทศดังกล่าวมีนโยบายการศึกษาด้านสะเต็มศึกษา ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ด้านการศึกษาในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบ

สำหรับแนวทางของประเทศไทย มีข้อเสนอให้กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาสะเต็มศึกษาระดับประเทศ นำไปสู่การปฏิรูปสะเต็มศึกษาในทุกระดับการศึกษาทั่วประเทศ ควรมีหน่วยงานกลาง หรือคณะกรรมการกลางของประเทศด้านสะเต็มศึกษา เพื่อขับเคลื่อนสะเต็มอย่างต่อเนื่อง

ควรเร่งกระจายอำนาจการบริหารจัดการสะเต็มศึกษาด้านสะเต็มศึกษาไปสู่การจัดการศึกษาระดับจังหวัด ภายใต้แกนกลางหลักสูตรสะเต็มศึกษากลางของประเทศ แต่จัดการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

พร้อมเน้นการบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาคเอกชนผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโลกการศึกษากับความต้องการแรงงานที่สอดคล้องกัน

“ในที่ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนและผู้แทนสภาอุตสาหกรรม เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนด้านสะเต็มศึกษาสู่การปฏิบัติ ยังมีความเห็นตรงกันว่า การเรียนหรือศึกษาด้านสะเต็มนั้น จะต้องนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันได้จริง นอกเหนือจากเร่งพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องเป็นคนดีมีจริยธรรมและคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย คือเป็นทั้งคนเก่งและคนดีไม่ใช่แค่เรียนเก่งเท่านั้น” ดร.สมศักดิ์กล่าว