มข.ใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ

ศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี : ปัญญาประดิษฐ์ด้านการดูแลสุขภาพ (AI for Healthcare) เพื่อความเป็นเลิศด้านการแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการใช้นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

โดยมีคณาจารย์นักวิชาการจากคณะวิชาต่างๆ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด(Harvard University) และมหาวิทยาลัยเอ็ม ไอ ที (Massachusetts Institute of Technology) สถาบันภายในประเทศ และภาคเอกชน เข้าร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ รูปแบบของกิจกรรมโครงการเป็นการบรรยายในหัวข้อหลักคือ ความสำคัญและประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ขอบเขตการใช้งานของปัญญาประดิษฐ์ เช่น การตรวจคัดกรอง การสื่อสารระหว่างบุคลากรการแพทย์ หรือสถานบริการสุขภาพ และระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ การรักษาที่เจาะจงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย การติดตามอาการผู้ป่วย การส่งเสริมการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การฟื้นฟูสุขภาพ

การเชื่อมโยงกับการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data management and machine learning) ประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ MIT ในการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในสถานการณ์จริงของโลก แนวโน้มการใช้ปัญญาประดิษฐ์ใน 10 ปีข้างหน้า และ ข้อควรตระหนักด้านกฎหมาย จริยธรรม จรรยาบรรณในการนำปัญญาประดิษฐ์มาให้ในการดูแลสุขภาพรศ.นพ.ชาญชัย กล่าวด้วยว่า เรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในทุกมิติ แต่สำหรับการประชุมในครั้งนี้เราเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพหรือ Healthcare ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งคือการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ที่กำลังมีการก่อสร้างอาคารและการขยายผลการดำเนินการ

สำหรับในวงการแพทย์แล้วปัญญาประดิษฐ์มีความเกี่ยวข้องในหลายด้าน เช่นการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เรื่องของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการวินิจฉัยโรคที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย เช่นการอ่านชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา การอ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ ด้วยปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถที่สูงในการตรวจสอบ ที่จะช่วยลดความผิดพลาดและแปลผลได้อย่างละเอียดแม่นยำ

นอกจากนี้ ยังรวมถึง Machine Learning ที่เป็นหุ่นยนต์เครื่องมือช่วยทางการแพทย์ จะเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทมาก ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ Medical Hub จึงได้นำเอาเรื่องของ AI มาเป็นประเด็นสำคัญ รวมทั้งต่อไปเราจะมีหลักสูตรในระดับปริญญาโทในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์แพทย์ด้วย

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความตั้งใจที่จะนำเรื่องปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ เกิดเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์และขยายผลเพื่อคนไทยทั้งประเทศต่อไป” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในตอนท้าย