สวทช.-จิสด้า รับข้อมูลผลึกโปรตีนอวกาศ เดินหน้าวิจัยยาต้านมาลาเรีย

 

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 63 ณ ห้องประชุม Visionization ชั้น 6 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อาคาร B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และองค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) จัดพิธีรับมอบข้อมูลการกระเจิงของแสงจากผลการฉายแสงซินโครตรอนกับโครงสร้างผลึกโปรตีนอวกาศ 

 

จากผลงานวิจัยหัวข้อ “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และที่ปรึกษา สวทช. เป็นประธาน 

 

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน การทดลองงานวิจัยในอวกาศเป็นเรื่องน่าสนใจของหลายมหาวิทยาลัยในประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับการวิจัยเรื่องผลึกเหลว หรือ Liquid Crystals ในอวกาศ หรือ มหาวิทยาลัยมหิดล กับการทดลองเพาะเลี้ยงพืชตระกูลไข่น้ำในอวกาศ เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้ เกิดแรงบันดาลใจในการทดลองงานวิจัยในอวกาศ จากการดำเนินงานของโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ หรือโครงการ National Space Exploration ของ สทอภ. โดยความร่วมมือกับ สวทช. 

 

 

และประเด็นที่สำคัญ คือ งานวิจัยเรื่อง “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศ” ของ ดร. ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส จาก ไบโอเทค สวทช. เป็นงานวิจัยไทย งานแรก ที่ สทอภ. ได้ผลักดันให้ไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ได้สำเร็จ ซึ่งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีงานวิจัยของคนไทยเพื่อคนไทยบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และเป็นครั้งแรกที่มีธงชาติไทยไปปรากฏบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS พร้อมตราสัญลักษณ์หน่วยงานของไทย อันประกอบด้วย สทอภ. สวทช. และ ไบโอเทค 

 

นี่คือที่มาของงานพิธีรับมอบข้อมูลผลึกโปรตีนอวกาศ ที่ สทอภ. ร่วมกับองค์กรพันธมิตรได้ดำเนินการส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศ โดย JAXA ได้ดำเนินการส่งงานวิจัยของไทยไปทดลองให้บนสถานีอวกาศ เป็นจำนวนทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน จนได้ผลผลึกโปรตีนอวกาศที่สมบูรณ์และมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการวิเคราะห์เพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียต่อไป 

 

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศในการทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินกิจกรรมด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก 

 

สำหรับการทำวิจัยโดยใช้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศช่วยให้การทำงานวิจัยในหลาย ๆ เรื่องที่ไม่สามารถทดลองได้บนโลก สามารถได้ผลการทดลองใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยเป็นอย่างมาก อย่างเช่นงานวิจัย“การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ ที่เราอาจจะได้ยาต้นมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น 

 

ซึ่งนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของนักวิจัย สวทช. อีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสได้ส่งขึ้นไปทดลองบนอวกาศความร่วมมือกับ จิสด้า และแจ็กซา ในโอกาสต่อไป

 

ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า งานต่อจากนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการกระเจิงของแสงเพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีนซึ่งเป็นเป้าหมายยาต้านมาลาเรียนี้ เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลโครงสร้างโปรตีนที่ได้จากการปลูกผลึกบนโลก และหวังว่าจะได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยในการออกแบบยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั่วโลก

 

ด้าน นายโอโนะ อิสึชิ (Mr. Ono Atsushi) ผู้อำนวยการ JAXA Bangkok Office กล่าวว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยที่มีคุณค่าจำนวนมาก งานวิจัยการปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศถือเป็นอีก 1 งานวิจัยที่มีคุณค่าและความสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวงการสาธารณสุขโลก JAXA ในฐานะที่มีผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ ตลอดจนห้องปฏิบัติการทดลองในอวกาศ มีความพร้อมและยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านอวกาศที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อไป

 

สำหรับโครงการ National Space Exploration (NSE) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับงานวิจัยไทยไปสู่การทดลองในอวกาศและพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมอวกาศ เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยต่อไป ผู้สนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ National Space Exploration (NSE) ได้ที่เว็บไซต์https://www.nstda.or.th/nse หรือแฟนเพจ National Space Exploration