เสวนากับบรรณาธิการ : เสมา ๑ กับ อำนาจนิยม สะท้อนผ่านการแก้ ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน

 

เสมา ๑ กับ อำนาจนิยม สะท้อนผ่านการแก้

ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ 

 

จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ แต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาและครู เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน น่าจะเป็นเรื่องกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ในบุคลากรทางการศึกษาทั่วไทย

 

นับเป็นประเด็นที่ท้าทาย และ เชื่อว่าน่าจะมีผลกระทบทั้งในแง่ของการบริหารและภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรครู ที่อาจมีผลต่อคุณภาพในการจัดการศึกษาในภาพรวมตามมาก็ได้

 

ในประเด็นดังกล่าว ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม อดีตนายตำรวจใหญ่มืออาชีพ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษา จึงเลือกที่จะขอให้แต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน มาเป็นความสำคัญอันดับแรก

 

อีกทั้ง ยังขอให้แต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา และ ครู เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย แทบจะเป็นไปแบบทันทีทันใด จึงเป็นข้อสังเกตจากคนในวงการศึกษาในทำนองว่า อาจเป็นนำบุคลากรเข้าสู่การสุ่มเสี่ยงเกินไปหรือไม่  

 

ทั้ง ๆ ที่ การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบ ตามมติสมัชชาสุขภาพ เฉพาะประเด็น 5 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย  

 

การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และ สาธารณชน การเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

 

สำคัญขนาดนี้ ทำไม รมว.ศธ.จึงไม่มีการประชุมปรึกษาวางยุทธศาสตร์เชิงรับ เชิงรุก บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ว่าจะมีแผนดำเนินการ ระยะ สั้น กลาง ยาว การติดตามประเมินผล อุปสรรคและปัญหา จะทำอย่างไร ลักษณะไหน แม้ถึงขณะนี้ ยังไม่เห็นภาพใหญ่

  

ทั้ง ๆ ที่ ใน 5 มาตรการ สามารถดำเนินการไปพร้อม ๆ กันได้ ในลักษณะตั้งความปรารถนาดี ที่มีครู ผู้มีจิตวิญญาณเพื่อศิษย์ เสียสละ อดทน อดกลั้น จรรยาบรรณวิชาชีพ ทุ่มเทอบรมสั่งสอนศิษย์ สร้างศิษย์ แม้ต้องใช้เวลาหล่อหลอมปรับแต่งยาวนาน ให้หลุดพ้นหลุมดำให้ได้ก็ตาม

 

 

แต่ในเมื่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เลือกที่จะเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า มาเป็นความสำคัญอันดับแรก จึงกลายเป็นเรื่องที่ตัองนำมาคุยกันในหลากหลายมุมมอง

 

อย่างน้อย อดสะท้อนไปถึงสภาพการทำงานและอำนาจการบังคับบัญชา ในข้าราชการตำรวจระดับสูง เมื่อออกคำสั่งหรือนโยบายไปแล้ว ก็ต้องเอาไปใช้กับทุกหน่วยทั่วประเทศ ไม่ว่าอยู่ ณ ภูมิประเทศใด ซึ่งบางทีไม่สอดคล้องกับวิถีการทำงานของแต่ละท้องที่

 

ดังนั้น องค์กรพลเรือนใดที่ได้ผู้นำจากอดีตข้าราชการตำรวจหรือทหาร ผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่จะตกอยู่ในสภาพเครียด ไม่กล้าเผชิญหน้า จะขาดความกล้าหาญทางความคิด ทำงานในลักษณะยอมจำนน

 

เนื่องจากภาพสัมผัสอดีตข้าราชการผู้บริหารระดับสูงตำรวจหรือทหาร ดังกล่าว ส่วนใหญ่แยกไม่ได้ได้ว่า ระหว่าง “ตำรวจ/ทหาร มืออาชีพ” เมื่อก้าวเข้ามาเป็น “อาชีพนักการเมือง” แล้ว ยังไม่ยอมสลัดชุดความคิด ความเป็นตำรวจ/ทหารมืออาชีพ ออกไปนั่นเอง  

 

ยิ่งมามีอำนาจกำกับดูแลองค์กรที่มีวัฒนธรรมและค่านิยมที่เรียบง่าย ไม่นิยมความรุนแรง เช่น สังคมการศึกษา มีครู บุคลากรทางการศึกษา มีกฎ ระเบียบ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ตลอดจารีตประเพณีปฏิบัติอันดีงามมายาวนานด้วยแล้ว ดูเป็นเป็นเรื่องง่ายในทางปกครองยิ่งนัก   

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมในองค์กรครู-การศึกษา ถูกปลูกฝัง แนบแน่นกับความคิดในเชิงสร้างสรรค์ พัฒนา มากกว่าทำลาย  ใครในสังคม ไม่ว่าเด็กที่เป็นลูกศิษย์ หรือ ผู้ปกครอง สามารถดํารงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

ดังนั้น การขออำนาจดังกล่าวมาให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาใช้ จึงเป็นความอ่อนไหวที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกและขัดต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ไม่ว่าจะมองในมุมใด

  

จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งการจะทำให้ 5 มาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าฯ ควรมีการทำความเข้าใจร่วมกันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรงกันเสียก่อน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมในองค์กรของตนเอง

 

มิใช่การพยายามแสวงหาอำนาจ แล้วโยนมาให้ครูและผู้อำนวยการสถานศึกษาใช้อำนาจในการจัดการกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ หรือ ตำรวจ

 

กล่าวเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ การใช้อำนาจในลักษณะนี้ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ การตัดสินใจ จะต้องมีความโปร่งใสและมีการตรวจสอบภายในอย่างเข้มข้น ควรมีการสื่อสารอย่างชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินการต่อนักเรียนและผู้ปกครองอย่างโปร่งใสช้ดเจน รวมทั้งการรายงานการยึดอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง รัดกุม

  

อำนาจที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนในการบริหารและการจัดการโรงเรียนต้องมีการฝึกอบรมและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขต 

 

อาจเพิ่มความตึงเครียดในงานประจำ เนื่องจากภาระงานและความรับผิดชอบให้กับครูและผู้อำนวยการสามารถมีผลกระทบต่อคุณภาพงานหลักได้อย่างมาก ด้วยครูและผู้อำนวยการอาจต้องใช้เวลามากขึ้น ในการตรวจสอบและดำเนินการเกี่ยวกับการละเมิดนโยบาย ซึ่งอาจทำให้เวลาที่จะต้องใช้ในการสอนหรือบริหารจัดการโรงเรียนลดลงได้

 

เนื่องจากการให้อำนาจดังกล่าว แม้จะสามารถช่วยให้การจัดการปัญหาในโรงเรียนรวดเร็วและเข้มงวดขึ้นก็จริง แต่ย่อมมีความเสี่ยง ซึ่งการจัดการกับความเสี่ยง อาจทำให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนในการบริหารและการจัดการ ตามมาอย่างคาดไม่ถึง  

 

โดยเฉพาะการต้องรับมือกับปัญหาทางกฎหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างถูกต้อง ครูและผู้อำนวยการ ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถ่องแท้ เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระงานในการตรวจสอบเช่นกัน   

 

 

นอกจากนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมโรงเรียนที่เข้มงวดเกินไปด้านกฎหมาย อาจทำให้สถานศึกษามีบรรยากาศที่เข้มงวดเกินไป ส่งผลให้นักเรียนรู้สึกถูกกดดัน เครียด ไร้ความปลอดภัย และความรู้สึกอยากเรียนรู้ถดถอย

 

เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขต  การตรวจสอบอำนาจ และ การบังคับใช้กฎหมายภายในโรงเรียน จึงต้องมีการติดตามผล และ การประเมินผลการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มิเช่นนั้น อาจทำให้เกิดความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย กับ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนและผู้ปกครอง ไปโดยปริยาย

 

ทางออกในเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษา ควรมีนโยบายและกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการห้ามนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียน และ มาตรการที่จะดำเนินการหากมีการฝ่าฝืน ที่มิใช่การใช้อำนาจในการจับกุม อย่างที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต้องการ  

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage