ศธ.สั่งปิดศูนย์การเรียนเด็กพม่า "มิตตาเย๊ะ" สุราษฎร์ฯ หลังไวรัลคลิปร้องเพลงชาติ

 วิจารณ์ สั่งปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ลอยแพเด็กนับพัน หลังคลิปนักเรียนร้องเพลงชาติพม่าว่อน

 

ศธ.สั่งปิดศูนย์การเรียนเด็กพม่า "มิตตาเย๊ะ" สุราษฎร์ฯ หลังไวรัลคลิปร้องเพลงชาติ 

 

เมื่อสัปดาห์กว่าที่ผ่านมา ได้มีคลิปเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ร้องเพลงชาติไทย และเพลงชาติพม่า หน้าเสาธง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ร้องเพลงชาติพม่าชัดกว่าเพลงชาติไทย และมีความเห็นต่าง ๆ จากคนไทยจำนวนมากในลักษณะที่ระบุว่า ไม่เหมาะสมเพราะเป็นแผ่นดินไทย

 

เรื่องนี้ ได้กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ส่งผลให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ มีคำสั่งให้มีการตรวจสอบสถานศึกษาอย่างเข้มข้น

 

 

และหลังจากการที่ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจแล้วพบว่า ศูนย์การเรียนแห่งนี้ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานจัดการศึกษาให้เด็กเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากประเทศพม่า ซึ่งมีเด็กอยู่ร่วมพันไม่ได้จดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ และ ปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานการศึกษาในลักษณะนี้อยู่ในประเทศไทยถึง 63 แห่ง มีเด็กเคลื่อนย้ายจากประเทศพม่ากำลังศึกษารวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 20,000 คน

 

จึงนำป้ายประกาศไปติดที่หน้าศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ ต.บางกุ้ง อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2567 ซึ่งบนป้ายเป็นเอกสารระบุว่า “การเรียนมิตตาเย๊ะ จัดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ตาม มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 จึงให้ยุติกิจการดังกล่าวทันที และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน”

 

อาจเป็นรูปภาพของ 6 คน, รถยนต์, โรงพยาบาล และ ข้อความ

 

อีกทั้งในเฟสบุ๊กของของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายเสาวพจน์ รัตนบุรี รองศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายสุภนันทน์ จันทรา นิติกรชำนาญการ ร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีการจัดตั้งสถานศึกษา และการจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และวันที่ 4 ก.ย. 2567  ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ติดประกาศให้ยุติกิจการดังกล่าวทันที และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labor Protection Network : LPN) กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ เป็นความบ้าจี้ของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากคลิปเด็กร้องเพลงชาติพม่าในไทยหรือไม่ แต่ปัจจุบันมีเด็กเคลื่อนย้ายจากพม่านับหมื่นคน เรียนอยู่ในศูนย์การเรียนในลักษณะเดียวกับศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ

 

เพียงแต่ศูนย์การเรียนที่สุราษฎร์ธานี แห่งนี้ เป็นการออกแบบและประสานงานกันเองของคนพม่า ที่เชื่อมต่อกับภาคเอกชนไทย ที่ให้เช่าสถานที่แต่ไม่มีร่มใหญ่ และเท่าที่รู้เขาก็พยายามที่จะจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

 

แต่เนื่องจากไม่มีเจ้าภาพ ทำให้ระบบการจัดการอาจมีปัญหา แต่การปิดครั้งนี้เป็นการใช้อำนาจของศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด

 

นายสมพงศ์ กล่าวด้วยอีกว่า ในส่วนของ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีศูนย์ในลักษณะเดียวกับที่สุราษฎร์ธานี อยู่หลายแห่ง โดยมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่ อ.กระทุ่มแบน แต่การออกแบบและบริหารเป็นเครือข่ายชาวพม่า ที่อยู่ภายใต้ร่มของ LPN และประสานกับทุกหน่วยงาน ซึ่งได้เคยมาเยี่ยมดูที่ศูนย์กันหมดแล้วนายสมพงศ์

 

แต่เมื่อมีคลิปไวรัลของเด็กนักเรียน ที่ร้องเพลงชาติพม่า เกิดขึ้นในโลกออกไลน์และกระทรวงศึกษาธิการ สอบถามมาว่า ใช่เป็นโรงเรียนที่ LPN เป็นร่มให้หรือไม่

 

ซึ่งตนก็ตอบว่าไม่ใช่ โดยที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัด ตม.และหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปเยี่ยมแล้ว เพื่อให้เห็นการจัดการร่วมกันอย่างไรในการดูแลคุ้มครองเด็ก ซึ่งเราได้ทำเอกสารประวัติเด็กครบทุกคนและรู้ว่าพ่อแม่อยู่ที่ไหน เพื่อให้รู้ตัวตน

 

การจดทะเบียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น การจัดทำหลักสูตร ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมามีเด็กจำนวนหนึ่งทะลักเข้าประเทศไทยเนื่องจากต้องหนีสงคราม และความขัดแย้งในประเทศพม่า และผู้ปกครองหนีการเกณฑ์ทหาร ทำให้เข้าเรียนระหว่างเทอมไม่ได้ และไม่รู้จะไปไหน จึงต้องใช้ศูนย์การเรียนในลักษณะนี้ และผมเรียกว่าเป็นฝึกอบรมเด็กเพื่อเตรียมความพร้อม ตอนนี้มีเด็กเข้ามาเยอะมาก ทั้งใน กทม.และปริมณฑล

 

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

 

นายสมพงศ์กล่าวว่า ในระดับนโยบายรัฐบาล ต้องเข้าใจต้นทางของเด็กเหล่านี้ให้มาก เพราะการใช้เรื่องความมั่นคงเป็นหลัก โดยการจับและผลักดันกลับอย่างเดียว ก็ไม่เป็นผลดีเพราะเหมือนกับส่งเขากลับไปตาย และคนเหล่านี้ต่างหนีร้อนมาพึ่งเย็น ที่สำคัญ คือ การดูแลและคุ้มครองเด็กควรประกาศให้ชัดเจนว่า เด็กทุกคนที่เกิดและอยู่ในประเทศไทย หรือเป็นผู้ติดตาม รัฐต้องให้การปกป้องคุ้มครอง

 

ศูนย์การเรียนแต่ละแห่งที่ตั้งขึ้นมา ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมและกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่จ้องที่จะปิดเขา ควรมีความยืดหยุ่นสูง เพื่อเป้าหมายในการดูแลคุ้มครองเด็ก

 

อย่าลืมว่า ศูนย์เหล่านี้ทำหน้าที่ดูแลเด็กแทนรัฐด้วยซ้ำไป เพราะรัฐเองไม่มีนโยบายเชิงรุก ที่จะเข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนี้

 

”แต่การที่รัฐไปชี้นิ้วบอกอันนั้นผิด อันนี้ผิด ทำให้จะตายกันหมด ถ้าคุณเอากฎหมายเข้าไปจัดการกับศูนย์การเรียนทั่วประเทศ ผิดหมดเลย เพราะบางศูนย์ไม่ได้มีสถานภาพที่จะไปจดเบียน มีเด็กไม่น้อยกว่า 5-6 หมื่นคน อยู่ในศูนย์การเรียนแบบนี้” นายสมพงค์ กล่าว