'สพฐ.'เล็งยกร่างกม.หักหนี้สินครู เหตุศาลชี้ระเบียบ'ศธ.ไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา

 

'สพฐ.'เล็งยกร่างกม.หักหนี้สินครู เหตุศาลชี้ระเบียบ'ศธ.ไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา

 

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า

 

ตามที่ที่ประชุมผู้บริหารสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

 

ดังนั้น เพื่อหาวิธีการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายนั้น จากคำพิพากษาดังกล่าวเป็นผลให้ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนฯ พ.ศ.2551 เหมือนไม่เคยมีผลบังคับใช้ เพราะไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยังคงต้องดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 เพียงแต่ต้องมีการเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่องการเจรจา เพื่อให้ตรงไปตามกรอบวงเงิน ที่ต้องอิงกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2550 ที่กำหนดไว้ว่า ในการเจรจาจะต้องให้เจ้าหนี้ทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกันว่า การหักเงินเพื่อชำระหนี้ เกินกว่าวงเงินของเงินเดือนที่ผู้กู้ได้ใช้หรือไม่

 

เพราะฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ จึงถือเป็นข้อดี ที่ได้เพิ่มเติมการเจรจา กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัด ไปสั่งการให้เป็นไปตามมติ ครม.ดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นได้ส่งหนังสือเป็นข้อเสนอแนะไปแล้วส่วนหนึ่ง

 

 

นางเกศทิพย์ กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นการหักเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ยังคงต้องให้มีเงินเดือนเหลือใช้ในชีวิตประจำวันไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพียงแต่อาจจะต้องมีการเพิ่มเติมรายละเอียด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะต้องดูข้อกฎหมายให้รัดกุม ส่วนระยะยาวเพื่อไม่ให้มีข้อโต้แย้งในเรื่องข้อกฎหมาย จากผลการพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด ก็ได้มีข้อแนะนำว่า หากจะให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ก็จะต้องจัดทำเป็นกฎหมาย เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว คงต้องให้มีความยืดหยุ่นตามสภาพเศรษฐกิจ ปัจจุบันเงินเหลือหักจากการชำระหนี้ร้อยละ 30 ก็ถือเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก บางคนพอใช้ เพราะมีอาชีพเสริมรองรับและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ขณะที่บางคนก็อาจจะยังไม่เพียงพอ 

 

"ทั้งนี้หากจะจัดทำเป็นกฎหมาย จะมีผลบังคับใช้เฉพาะในส่วนของ ศธ.เท่านั้น ส่วนหน่วยงานอื่นก็อาจใช้แนวทางดำเนินการตาม ศธ.ได้ หรือจัดทำกฎหมายเฉพาะของตนเอง ซึ่งผู้บริหาร ศธ. และผู้บริหาร สพฐ.ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็วางแนวทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการจัดอบรม ให้ความรู้เรื่องวินัยทางการเงิน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว