เด็กเกษตรพะเยาเดินตามศาสตร์พระราชา ทำระบบน้ำหยดอัจฉริยะปลูกพืชใช้น้ำน้อย

      “...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

      พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙

        ท่ามกลางภาวะวิกฤติภัยไวรัสโควิด-19ที่สร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลก ประเทศไทยเองก็ไม่อาจหลุดพ้นโรคไวรัสร้ายแรงดังกล่าวไปได้คนไทยทั้งประเทศจึงกำลังผเชิญกับความทุกข์ยากอันเกิดมาจากภาวะโรคโควิด-19ดังกล่าวอันนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความอดอยากขาดแคลนถาโถมสู่ประชาชนคนไทยนำความทุกข์เดือดร้อนแสนสาหัสมาสู่อย่างทั่วถึง

         ในเวลาเดียวกันสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ก็ดูจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้น้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศไทยของปี 2562 อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับปริมาณฝนสะสม 3 เดือนแรกของปี 2563 ก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ น้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศในปี 2563นี้จึงมีแนวโน้มลดลง เป็นอีกภัยธรรมชาติที่จะเป็นแรงซ้ำเติมเข้ามาให้คนไทยต้องรับทุกข์สาหัสยิ่งขึ้นไปอีก

          จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องตระหนักถึงการดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท มีสติ ขอให้น้อมนำหลักการดำเนินชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรพระราชทานไว้ให้ที่เรียกว่าศาสตร์พระราชาก็คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญสุดคือ “น้ำ”พระราชทานพระราชดำริย้ำว่า “น้ำคือชีวิต”  วันนี้คนไทยทุกคนต้องให้ความสำคัญในการใช้สอยน้ำในทุกด้านอย่างรู้คุณค่าและอย่างประหยัด

         ท่ามกลางวิกฤติภัยธรรมชาติที่ถาโถมกระหน่ำคนไทย แต่น่าชื่นใจที่คนไทยรวมพลังสามัคคีป้องกันมิให้เชื้อไวรัสแพร่ขยายไปสู่วงกว้าง หยุดเชื้อเพื่อชาติช่วยกันปกป้องทุกวิถีทาง ทุกภาคส่วนคนละไม้คนละมือช่วยกัน โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่ศึกษาเล่าเรียนมาทางช่างฝีมือต่างๆทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีวศึกษา

      อย่างนักเรียนนักศึกษาอาชีวะเกษตรในวิทยายาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศปลูกพืชผัก ทำการเกษตรในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อบุคลากรของวิทยาลัยได้ใช้ดำรงชีพ และเกื้อกูลประชาชนรอบๆวิทยาลัยตั้งแต่จำหน่ายในราคาถูกไปจนถึงแจกจ่ายในเวลาเดียวกันก็แนะนำให้ความรู้กับผู้สนใจนำไปทำในบ้านตัวเอง ประยุกต์ทำได้ทั้งในพื้นที่น้อย น้ำน้อย

       วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา นักเรียนนักศึกษาพร้อมครูที่ปรึกษาคิดค้นวิธีการใช้น้ำกับพืชอย่างประหยัด โดยแรงบันดาลใจจากศาสตร์พระราชา คือการปลูกพืชด้วยระบบน้ำหยดแบบอัจฉริยะจากงานฟาร์มพืชในโรงเรือนอัจฉริยะของวิทยาลัย เป็นการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ผ่านการฝึกปฏิบัติงานจริงโดยมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ โดยการปลูกพืชด้วยระบบน้ำหยดนี้จะช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำในการทำการเกษตร เหมาะกับการทำเกษตรในช่วงหน้าแล้งที่มีน้ำน้อย และลดปัญหาเรื่องการระบาดของโรคและแมลง ตลอดจนเกิดความแม่นยำในกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการควบคุมปัจจัยต่างๆ ของการผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาคิดค้นเทคโนโลยีด้วยวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่และนำมาใช้เพื่อการเกษตร ตลอดจนเน้นการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพที่สำคัญคือประหยัด

        น้องหล้า หรือ นายสมพงษ์  คำสุก  ชั้นปวช.3  สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขางานการเกษตร  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยาหนึ่งในทีมคิดค้นนวัตกรรมว่า ตนและเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้การปลูกพืชปลอดภัยด้วยระบบน้ำหยดแบบอัจฉริยะซึ่งมีครูสมภพ สมยา แผนกวิชาพืชศาสตร์ เป็นครูที่ปรึกษา ข้อดีของการใช้ระบบน้ำหยด คือช่วยประหยัดน้ำ สามารถทำงานโดยไม่ต้องใช้แรงดันเยอะ ใช้เพียงปั๊มน้ำ ท่อหลัก และท่อแขนงที่มีขนาดเล็กกว่าระบบน้ำแบบอื่นๆ ซึ่งในบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปั๊มน้ำ หากแหล่งน้ำสูงกว่าพื้นที่เพาะปลูก 10 เมตร ช่วยลดปัญหาในเรื่องวัชพืช แมลงศัตรูพืช โรคต่าง ๆ ที่ระบาดในพืช อีกทั้งยังสามารถรดน้ำและให้ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำได้ โดยไม่เสียปุ๋ยไปในตำแหน่งที่ไม่ต้องการให้ และยังสามารถใช้ควบคู่กับพลาสติกคลุมดินเพื่อเป็นการรักษาความชื้นในดิน ทำให้พืชเจริญเติบโตสม่ำเสมอกันและได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ทั้งยังช่วยลดต้นทุน เพิ่มความแม่นยำและมีมาตรฐานในกระบวนการผลิตอีกด้วย โดยโครงการปลูกพืชปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภคของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา จะเป็นการปลูกพืชในโรงเรือนกึ่งปิดที่สามารถควบคุมเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง และที่สำคัญมีการควบคุมการให้น้ำโดยระบบน้ำหยดแบบอัจฉริยะ เป็นระบบที่คอยควบคุมการให้น้ำกับพืชตามความต้องการของพืชในแต่ละชนิด โดยจะทำงานด้วยบอร์ดที่บันทึกข้อมูลแบบสมองกลฝังตัว จะให้น้ำพืชตามค่าความชื้นของดินที่กำหนด และบอกค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ความชื้น หากค่าความชื้นในดินต่ำกว่าที่กำหนด ระบบก็จะสั่งให้เปิดจ่ายน้ำให้กับพืช และถ้าความชื้นเพียงพอตามที่พืชต้องการ ระบบก็จะสั่งปิดจ่ายน้ำทันที”

     

          นายสมพงษ์ย้ำอีกว่าตัวอย่างการปลูกแตงโมในช่วงของการติดผลและการสร้างเนื้อแตงโมจะต้องการน้ำในปริมาณที่ค่อนข้างมาก จึงเลือกใช้เทปน้ำหยดที่มีความหนาของเทป 0.22 มม. ระยะการหยดของน้ำ 10 ซม. อัตราการให้น้ำ 2 ลิตรต่อชั่วโมง ตนและเพื่อนๆ ใส่ใจทุกรายละเอียดในการปลูกตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลง การปลูก การให้ปุ๋ย การดูแลรักษา จนถึงการคัดสรรผลผลิตที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลผลิตภายใต้ แบรนด์ “เด็กเกษตร” (Dek Kaset) ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา โดยหากสนใจสั่งจองผลผลิตล่วงหน้า (Pre order) ได้แก่  ข้าวโพดพันธุ์ราชินีทับทิมสยามปลอดภัย ซึ่งจะปลูกในเดือนกรกฎาคม 2563  และจะเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน 2563 และแตงโมพันธุ์กินรีที่จะปลูกในเดือนตุลาคม 2563 และจะเก็บผลผลิตในเดือนมกราคม 2564 มีบริการจัดส่งทั่วประเทศ ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่โทร.080-676-7370 หรือทางเฟสบุ๊คที่เพจ Dek Kaset เด็กเกษตร “วษท.พะเยา” หรือที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา

ทรงสร้างสุขทั้งแผ่นดิน

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com

Siamedunews.com

ปชส.สอศ.-ว.เกษตรพะเยาฯข้อมูล