ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ เกราะป้องกันยามวิกฤติ ทุกชีวิตยิ้มได้เมื่อภัยมา

       “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ” ไม่ใช่แนวทางที่ปฏิเสธชีวิตคนเมืองเพื่อให้หันไปทำการเกษตร ปลูกพืชปลูกผัก ทำไร่ ทำนา เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลาแต่พอกิน ไม่ใช่บอกให้ใช้ชีวิตตามยถากรรมรอคอยการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว 

      “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” คือแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานให้คนไทยนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ภายใต้กรอบข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจย่างก้าวให้ทันกับสถานการณ์ ประกอบการตัดสินใจในการทำมาหากินและดำเนินชีวิต ภายใต้ความซื่อสัตย์สุจริต คิดคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน อย่างมีเหตุมีผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันรองรับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่อาจจะต้องเจอ เป็นแนวคิดให้ผู้ที่น้อมนำไปปฏิบัติใช้สามารถค้นพบจุดพอดีและมีความสุขในทุกๆ สถานการณ์

       สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือเพื่อสนองพระราชดำริอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และสามารถดำเนินงานเพื่อสนองการพัฒนาที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2579 บนฐานองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

      นายดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯมาปฏิบัติใช้ของปวงชนชาวไทยว่า  ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯนั้นเป็นเสมือนกับภาคเศรษฐศาสตร์ ดังที่ประเทศไทยเคยเจอสภาวะเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แนวทางนี้เป็นหนึ่งในกลไกที่นำพาประเทศให้หลุดพ้นจากวิกฤติมาได้

      แต่ปัจจุบันปี 2563 เป็นสถานการณ์เรื่องของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลกทำให้เกิดปัญหาพร้อมกันในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข สังคม แรงงาน และปัญหาพื้นฐานอีกหลายอย่าง ซึ่งประเทศไทยนับว่าโชคดีกว่าในหลายๆ ประเทศ  ด้วยประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมในภาคการเกษตร โดยเฉพาะคนไทยไม่น้อยมีการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯไปปฏิบัติใช้จึงเห็นผลได้ชัดเจน และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

        

       ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายภาคส่วนได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯมาปฏิบัติใช้ จนเกิดยุทธศาสตร์ของชาติขึ้นมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลาย ๆ ภาคส่วนของสังคมได้รับผลกระทบ มาตรการในการป้องกันและแก้ไขก็คือ หยุดการเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคม ซึ่งก็ทำให้เกิดการหยุดการผลิตในหลายธุรกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อประชากรในการดำรงชีพและเรื่องอาหารการกิน

        อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือชนบท ที่ผ่านมามีจำนวนไม่น้อยที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯมาปฏิบัติใช้ โดยเฉพาะประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตร จึงไม่กระทบในเรื่องของการดำรงชีวิตประจำวัน แม้จะขาดแคลนบ้างในเรื่องส่วนประกอบอื่นๆ แต่เรื่องหลักๆ โดยเฉพาะความอยู่ได้ของชีวิตไม่กระทบ ดังปรากฏให้เห็นในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ที่ผู้คนโดยส่วนใหญ่ยังมีกินมีใช้ และสามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างกันได้อีกด้วย” นายดนุชา สินธวานนท์ กล่าว

        

       เลขาธิการ กปร. กล่าวต่อว่า หลังจากวิกฤติโควิด-19 ผ่านไปแล้ว การดำรงชีวิตและการทำกินอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่เดิมเป็นผู้ขายแรงงานในภาคการผลิตอื่นๆ ที่ธุรกิจเหล่านั้นอาจจะฟื้นตัวได้ช้าอาจจะหวนกลับท้องถิ่นไปอยู่กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการหวนกลับสู่การผลิตภาคการเกษตร ก็ย่อมที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงในวิถีชีวิตแบบประเทศไทย คืออยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ช่วยกันทำมาหากินมีชีวิตที่อบอุ่นอย่างไม่ขาดแคลน อันจะทำให้ประเทศไทย และสังคมไทยมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการสรุปบทเรียนในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมา 

      “แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯในสถานการณ์ปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับประเทศไทยกับสังคมไทย ทุกคนทุกกิจการสามารถน้อมนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงชุมชนและระดับประเทศ ในยามที่ประเทศมีวิกฤติมีปัญหาอย่างในอดีตก็เคยผ่านมาแล้ว ก็สามารถฝ่าฟันผ่านไปได้จากการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ บางอย่างก็อาจจะต้องใช้เวลา ที่สำคัญในการเตรียมตัวสำหรับก้าวต่อไปข้างหน้าของผู้คน สังคม และประเทศชาตินั้น การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯมาประยุกต์ใช้จะสามารถเป็นเกราะป้องกันผลกระทบจากสภาวะต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แล้วทุกคนจะยิ้มได้เมื่อภัยมา” นายดนุชา สินธวานนท์ กล่าว

 

ทรงสร้างสุขทั้งแผ่นดิน

สำนักงาน กปร. (ข้อมูล-เรียบเรียง)