ค.ร.อ.ท.ออกแถลงการณ์เรียกร้อง “ณัฏฐพล-วราวิช-ณรงค์” เลิกคิดตั้ง สนง.อาชีวะ 6 ภูมิภาค


จากกรณีที่นายวราวิช  กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยสื่อมวลชนว่าการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เสร็จสิ้นแล้ว โดยในส่วนโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีมติให้จัดตั้งหน่วยงานอาชีวศึกษาระดับภูมิภาคขึ้น 6 เขต กระจายตามภูมิภาคต่างๆ นั้น

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบจากบุคลากร ครู เจ้าหน้าที่ ศิษย์เก่า ผู้ปกครองและนักศึกษา  เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ รักษาผลประโยชน์ของบุคลากรอาชีวศึกษาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาทุกๆ ด้านของอาชีวศึกษาและยึดมั่นตามหลักธรรมาภิบาล  ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1

เรียกร้องให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวราวิช  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้ยกเลิกมติที่ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งอาชีวศึกษาระดับภูมิภาคดังกล่าวโดยทันที

“เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ขอคัดค้านการเสนอการจัดตั้งอาชีวศึกษาในระดับภูมิภาค ซึ่งเสนอโดยนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการ กอศ. จากเหตุผลดังนี้

1.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไม่มีคณะทำงานศึกษาถึงผลดีผลเสียต่อผู้เรียนหรือการบริหารผลกระทบที่จะเกิดกับการเสนอตั้งอาชีวศึกษาอย่างไร  หรือทำให้การศึกษาด้านอาชีวะพัฒนาไปในทิศทางใดเป็นประโยชน์ในภาพรวมของอาชีวศึกษาอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาแต่อย่างใด     

2.ปัจจุบันนี้มี พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 แต่ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และไม่นำสู่การปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ..รบ.แต่อย่างใด เช่นตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ม.10 (1) การมีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในทางปฏิบัติโดยมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบัน รวมถึงขณะนี้คณะกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งหมดวาระตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด เป็นต้น

3.สถาบันการอาชีวศึกษา 23 แห่งและวิทยาลัยอีก 428 แห่งต้องได้รับการพัฒนาทุกๆ ด้านโดยเท่าเทียมและสามารถที่จะรับมอบการกระจายอำนาจจากส่วนกลางเพื่อการบริหารและพัฒนาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งอาชีวศึกษาในภูมิภาค  ตามข้อเสนอของนายณรงค์  แผ้วพลสง  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาแต่อย่างใด

4.การบริหารงานโดยจัดตั้งหน่วยงานภายในและแต่งตั้งผู้บริหารโดยไม่มีตำแหน่งรองรับ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยอ้างภาระงานที่มากเกิดจากการรวมอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง  ทำให้ประสิทธิภาพงานถดถอย  และการดึงผู้บริหารจากวิทยาลัยให้ไปทำงานส่วนกลางจำนวนหนึ่งมีผลกระทบต่อการบริหารวิทยาลัยโดยตรงเป็นการปฏิบัติโดยชอบของกฎหมายหรือไม่

เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศ เชื่อมั่นในระบบการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. และเลขาธิการการอาชีวศึกษา ได้ยกเลิกการจัดตั้งอาชีวศึกษาในส่วนภูมิภาค ให้เลขาธิการ กอศ.หยุดความคิดที่จะตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาในภูมิภาค  และได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการอาชีวศึกษาและวิทยาลัยในสังกัด ได้พัฒนาเป็นที่ความหวังของประชาชนต่อไป”

เลขานุการเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ให้กระจายอำนาจ แต่การจัดตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาในภูมิภาคเป็นเพียงการแบ่งอำนาจ แถมยังขึ้นตรงต่อเลขาธิการ กอศ.เช่นเดิม

“แทนที่จะกระจายอำนาจให้ ผอ.สถานศึกษา ผอ.สถาบันการอาชีวศึกษา ทั้งเรื่องการบริหารทั่วไป การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานวิชาการ มีอำนาจบังคับบัญชา ให้คุณ ให้โทษ รวมถึงการ บรรจุ แต่งตั้ง ตามหลักการแห่ง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551”