ว.บริหารธุรกิจฯ ใช้พื้นที่ทำแปลงเกษตร ไม่ประมาทช่วงเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด

        "ปลายเดือนเมษายน 2563 จำต้องออกจากบ้าน แต่ตั้งสติไว้ตลอดว่า จะไม่ลืมสวมหน้ากากอนามัย ต้องอยู่ระยะห่างจากคนอื่นๆ ต้องพกเจลผสมแอลกอฮอล์ 70% ไปด้วยเพื่อล้างมือบ่อยๆ"

        ไปที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ ตั้งอยู่ใกลๆ กับเขตคลองสามวา กทม. ผู้อำนวยการวิทยาลัย คุณฉันทนา โพธิครูประเสริฐ ชวนไปดูแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนรากฐานการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ หรือศาสตร์พระราชา สนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระบรมราโชบายด้านการศึกษาสร้างพื้นฐานแก่ผู้เรียน 4 ประการ

         ได้แก่ มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานให้สถานศึกษาสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงตั้งพระราชปณิธานให้สถานศึกษาผลิตคนดีให้บ้านเมือง

         ในห้วงเวลานี้ที่ประเทศไทยร่วมประสบวิกฤติผจญภัยร้ายเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับเกือบทุกประเทศทั่วโลก สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งประเทศ ก็ร่วมอยู่ในชะตากรรมนั้น แต่ด้วยความเป็นคนไทยไม่ทิ้งกัน จึงรวมพลังสนองพระบรมราโชบาย ใช้ความรู้ความสามารถตามสายอาชีพที่ร่ำเรียนมาเป็นกำลังหนึ่งที่ช่วยกันหยุดเชื้อไวรัส เริ่มตั้งแต่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

         รวมถึงสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อช่วยปกป้องความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ แล้วก็ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 มิให้ติดเชื้อไปด้วย แล้วก็มอบให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือสังคม เช่น อสม. เป็นต้น ที่ละเลยไม่ได้คือนักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ค รูอาจารย์และประชาชนทั่วไป ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันนี้ด้วย วิทยาลัยอาชีวะจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็ม

         

        วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ นอกจากยึดมั่นในการสนองพระมหากรุณาธิคุณสืบสานพระราชปณิธานฝึกฝนให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนดี ที่ประจักษ์คือในยามที่ประเทศไทย สังคมไทย คนไทย กำลังประสบวิกฤติภัยจากโรคเชื้อไวรัส แม้จะต้องเคร่งครัดอยู่ในระเบียบวินัยคืออยู่กับบ้าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหยุดเชื้อโควิด แต่อยู่บ้านก็ต้องเรียนไปด้วย และมีความพยายามที่จะเอาความสามารถผลิตอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ให้กับสังคมไปด้วย ช่วยเหลือตัวเองป้องกันตัวเองไปด้วย

        การช่วยเหลือตัวเองและสังคมมิใช่เพียงแค่ร่วมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ได้ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เรียนปรกติในวิทยาลัยคือรวมกลุ่มทำแปลงเกษตร เมื่ออยู่บ้านก็ทำ ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ไม่ว่าจะจำกัดแค่ไหน ปลูกพืชผักต้นไม้ "ผอ.ฉันทนา" พร้อมผู้บริหาร ฝึกฝนให้ได้ใช้พื้นที่ว่างส่วนหนึ่งปรับพื้นที่เป็นแปลงเกษตร แปลงต้นไม้ โดยพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งน้ำล้อมรอบอยู่แล้ว ทำในนามชมรมคือ “ชมรมเศรษฐกิจพอเพียงฯ” วันนี้ไม่มีนักเรียนนักศึกษาเข้าไปร่วมกิจกรรม แต่มีครูอาจารย์ดูแลอยู่

         

       รองผู้อำนวยการวิทยาลัย ที่ปรึกษากิจกรรมแปลงเกษตรของชมรมเศรษฐกิจพอเพียงฯ นางจิรนันท์ มณีรัตน์ พร้อมด้วยครูปัฐษพร เลขาตระกูล และนายพรเทพ บันลือทรัพย์ ครูที่ปรึกษา บอกว่าดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 ทำจนถึงวันนี้เพื่อสร้างพื้นที่ให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ให้เป็นอาหารของทุกคนในวิทยาลัย และชุมชนรอบๆ วิทยาลัย พืชผักที่เกิดตรงนี้ไม่ได้ขาย แต่แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย เป็นแบบแบ่งปัน พร้อมๆ กับเป็นพื้นที่ฝึกอาชีพเสริมของนักเรียนนักศึกษาที่สนใจอาชีพเกษตรกรรม

       และเป็นพื้นที่ปลูกฝังทุกคนให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริไปใช้ในชีวิตประจำวัน และถ้าทำอาชีพเกษตรก็ให้ยึดเดินตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยให้เห็นถึงหัวใจสำคัญว่าต้องมีแหล่งน้ำ มีน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต

       ผอ.ฉันทนา โพธิครูประเสริฐ บอกว่า มีนโยบายการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษาได้รับการปลูกฝังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ และยึดมั่นสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อหยั่งรากความเป็นคนดีของสังคม ซึมซับในสำนึกของนักเรียนนักศึกษาผ่านการสอดแทรกของครูอาจารย์ผู้สนอในทุกกระบวนวิชา แล้วก็ผ่านกิจกรรมทำร่วมกันแทรกเสริมเข้าไปอย่างต่อเนื่อง เช่นการให้ตั้งชมรมต่างๆ เพื่อฝึกการทำงานร่วมกันอยู่ร่วมกัน อย่างพึ่งพากัน รู้จักให้อภัยกันแบ่งปันกัน ฝึกความไม่โลภ ฝึกความอดทน ฝึกให้อภัยให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

       เพราะฉะนั้น ทุกชมรมจึงมีโอกาสได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้เน้นย้ำหลักการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง เช่นชมรมเศรษฐกิจพอเพียงฯ ก็จะมีชมรมอื่นๆ เข้าไปดูงานแลกเปลี่ยนเรียนตลอด ชมรมเศรษฐกิจพอเพียงฯก็ไปดูงานที่ชมรมอื่นด้วยเช่นกัน วันนี้เด็กๆอยู่บ้านเรียนทางออนไลน์ ก็ให้ครูอาจารย์ที่สอนสอดแทรกหลักการดำเนินชีวิตเพื่อความเป็นคนดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯตามจังหวะโอกาสเช่นกัน

         

     แปลงเกษตรในวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพของชมรมเศรษฐกิจพอเพียงฯวันนี้ยังมีผลผลิตที่เป็นพืชระยะยาวเช่นพริก มะเขือเทศ  มีแปลงแตงกวา แปลงกระเจี๊ยบ ข่า ตะไคร้ กระเพราะ รอบๆ ดูเหมือนจะมีเถาอัญชันขึ้นประปราย ฯลฯ ไม้ผลก็มีมะม่วง แปลงกล้วย แปลงมะละกอ มะนาว ฯลฯ มีโรงเพาะเห็ดแต่ตอนนี้อยู่ช่วงพักฟื้น คุณครูที่เอ่ยชื่อข้างต้นคอยดูแลและลงมือปลูกพร้อมให้น้ำ มีร่องน้ำล้อมรอบแปลงเกษตรพร้อมด้วยป่าไม้หลายชนิด มีสมุนไพรที่ขึ้นเองหลากหลายชนิดเป็นมรดกป่าทรัพยากรธรรมชาติขึ้นแซมให้กลายเป็นป่าชุมชนร่มรื่นและเป็นพึ่งพิงของสัตว์หลากหลายชนิดไม่เว้นแม้แต่ตัวเงินตัวทอง

     รอง ผอ.ฐิรนันท์ บอกทิ้งท้ายว่า ถ้าเข้าสู่ภาวะปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ใครจะแวะไปดูแปลงเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่บนพื้นฐานการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯก็เรียนเชิญ แต่วันนี้ก็ให้ร่วมใจกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ หยุดแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กันก่อน

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com

Siamedunews.com