ว.บริหารธุรกิจฯกรุงเทพ เดินตามศาสตร์พระราชา น.ศ.เรียนทางออนไลน์ที่บ้านร่วมต้านไวรัสโควิด-19

     "...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด -อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ- มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข..."

      พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2541

          วันนี้ประเทศไทยคนไทยทั้งประเทศกำลังตกอยู่ในความทุกข์ความเดือดร้อนอันพูดได้เต็มปากว่าอย่างสาหัสากรรจ์ เพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโคโนนาหรือโควิด-19(COVID-19) รัฐบาลประกาศขอให้คนไทยรับมือสู้กับภัยไวรัสนี้อย่างจริงจังเข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะอยู่บ้านเป็นทางหนึ่งที่ดีทีเดียวที่จะหยุดเชื้อไว้รัสตัวนี้ได้ โดยเน้นย้ำสำนึก “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  ถ้าแม้จำเป็นต้องออกจากบ้านต้องมีสติตลอดในการปฏิบัติตัวคือใส่หน้ากากผ้า ล้างมือด้วยเจลแอลกอล์ฮอล์ รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเข้าไปรวมอยู่ในกลุ่มคนแม้แต่ในบ้านถ้าอยู่สองคนขึ้นไปก็มีสติใช้ระยะห่างเป็นข้อปฏิบัติหลักและควรใส่หน้ากากไว้แบบไม่ประมาท

          ถ้าเราคนไทยทุกคนมีสติดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีดังที่วงการแพทย์สาธรารณสุข รัฐบาลได้แนะนำขอร้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็จะรอดปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 กลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปรกติมีความสุขอย่างยั่งยืน

          ด้วยความห่วงใยกันและกันอย่างจริงใจอยากให้คนไทยตั้งสติน้อมสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณ พระราชหฤทัยห่วงใยพสกนิกรในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางรากฐานเพื่อปลูกสำนึกหล่อหลอมจิตใจคนไทยหลอมรวมด้วยหลักคุณธรรมคือความรักความเมตตากันและกัน เสียสละประโยชน์ตนเพื่อพัฒนาประโยชน์ส่วนรวมร่วมสร้างสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข

          โดยพระราชทานศาสตร์พระราชาหรือคือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิต บนพื้นฐานจิตสำนึกที่ไม่ติดยึดอยู่ในความโลภ มีความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้อภัยกัน รู้จักอดทน มีระเบียบวินัย อันเป็นวิถีแห่งความเป็นคนดี

          ในอดีตที่ผ่านมานั้นประเทศไทย คนไทยก็ไม่อาจหลีกลี้โรคภัยไข้เจ็บไปได้ ยิ่งช่วงที่เราขาดสติ ประมาท ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตกับคนไทยทั้งโรคภัยไข้เจ็บและหรืออื่นๆพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระมหากษัตริย์แผ่ปกเกล้าปกกระหม่อมปัดเป่าร้ายให้บางเบาบรรเทาไปตราบจนประชาชนเข้าสู่ปรกติแห่งวิถีชีวิต อย่างเมื่อครั้งที่ประเทศไทยต้องผจญกับโรคเรื้อนระบาด พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทุ่มเทพระองค์แก้ปัญหาจนโรคเรื้อนหายขาดไปจากประเทศไทย

          วันนี้ที่คนไทยประเทศไทยกำลังเจอกับโรคร้ายตัวใหม่ที่ร้ายแรงแม้แต่ประเทศที่เจริญเป็นมหาอำนาจทุกด้านทั้งอเมริกา ยุโรปก็ยังไม่อาจระงับยับยั้งได้ เจอไวรัสโควิด-19 คร่าชีวิตประชากรไปประเทศละนับหมื่นนับแสน นั่นเพราะไม่มีหลักการดำเนินชีวิตคือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯ อันได้แก่การมีสติไม่ตั้งอยู่ในความประมาท แต่ประเทศไทย คนไทย มีศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ เพราะพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานไว้อันเป็นหลักปฏิบัติที่นำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืน ถึงจะไม่อาจปิดประตูโจมตีจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ทันทีทันใด อาจเพราะขาดสติ เพราะประมาท เพราะความโลภ

          แต่เราคนไทยแทบทั้งประเทศก็ดึงสติกลับมา วันนี้รวมพลังป้องกัน เอื้อเฟื้อกัน เกื้อกูล ด้วยรักด้วยเมตตา ละความโลภออกไปจากสำนึกแม้ ไม่ต้องร่วมด้วยช่วยสละวัตถุสิ่งของเช่นเครื่องป้องกันโควิดต่างๆ หรือแม้แต่เงิน เพราะทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม บันเทิง ภาคประชาชนคนที่ไม่เดือดร้อนด้านเงินทอง สถานศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยไปจนถึงอาชีวศึกษาก็คนละไม้คนละมือ ส่วนคนไทยธรรมดาอีกมากมายเพียงให้หัวใจปฏิบัติตามที่รัฐบาลขอโดยเก็บตัวอยู่บ้าน ทางหนึ่งที่จะปลอดเชื้อ นี่ก็ถือว่าทำเพื่อส่วนรวมเพื่อชาติ ด้วยจิตปรารถนาจะรวมพลังสร้างสุขสงบให้เกิดกับประเทศไทยโดยไม่มีไวรัสโควิด-19พ้นไปอย่างเร็วที่สุด ไม่เบียดเบียนคร่าชีวิตพี่น้องไทยเราต่อไป 

          พูดถึงสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา นักเรียน ครูอาจารย์ก็ต้องเจอกับภาวะวิกฤตโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับพี่น้องไทยเรา เช่นเดียวกับคนทั้งโลก ต้องหยุดเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยและทุกระดับชั้น ต้องปรับวิธีเรียนเป็นการสอนการเรียนทางออนไลน์แทนโดยเรียนอยู่ที่บ้าน แต่ในระดับมหาวิทยาลัย อาชีวศึกษาก็ยังมีสำนึกห่วงใยส่วนรวม ห่วงใยทั้งผู้ปฏิบัติงานอย่างเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ อสม.ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาร่วมทำผลิตภัณฑ์นวัตกรรมป้องกันการแพ่เชื้อโดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย อาชีวศึกษา ที่สร้างผลิตภัณฑ์ทั้งกล่องป้องกันการแพร่เชื้อ เฟซชิลด์ หน้ากากผ้า ผลิตเจลแอลกอล์ฮอล์ ให้ทั้งหน่วยงานทางการแพทย์ คณะอื่นๆและประชาชนผ่อนปรนความขาดแคลนไปได้พอสมควร

          ได้เห็นความเคลื่อนไหวการมีส่วนร่วมช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทย ของมหาวิทยาลัย ของวิทยาลัยอาชีวะทั้งประเทศผ่านทางสื่อว่าถึงจะปิดการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษาอยู่บ้านเรียนทางออนไลน์แทน แต่ผู้บริหารครูอาจารย์ ส่วนหนึ่งไปวิทยาลัยและได้รวมหัวใจกันเอาความรู้ทางวิชาชีพที่สอนมาใช้จริงเช่นเย็บหน้ากากผ้า ประดิษฐ์เครื่องป้องกันแพร่เชื้อ วิทยาลัยเทคนิคหรือสารพัดช่างก็เพิ่มสร้างแผงกั้นป้องกันแพร่เชื้อ เปลเคลื่อนย้ายคนไข้ป้องกันแพร่เชื้อเพิ่มไปจากเย็บหน้ากากผ้า ทำเจลล้างมือ  ผู้บริหารอนุญาตให้นักศึกษา ประชาชนรอบๆวิทยาลัยที่มีจิตอาสาร่วมทำอุปกรณ์ป้องกันโควิดด้วยโดยปฏิบัติตามข้อแนะนำของแพทย์และรัฐบาลอย่างเคร่งครัดร่วมด้วยช่วยกันทำประโยชน์ให้ส่วนรวม จนได้ หน้ากากและเจลล้างมือที่ส่วนหนึ่งให้นักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยตัวเอง ส่วนหนึ่งส่งไปที่โรงพยาบาล อีกส่วนหนึ่งแจกประชาชน

          ที่นักศึกษาครูอาจารย์ ประชาชนมีจิตอาสา เพราะสำนึกความเป็นคนไทยที่ห่วงใยกัน มีประสงค์ที่จะเห็นสังคมไทยคนไทยมีความสุข เพราะการซึมซับในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสอนไว้ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและด้วยตั้งใจสืบสานพระราชปณิธานบุคลากรของวิทยาลัยอาชีวะทั้งประเทศตั้งแต่ผู้บริหารลงมาจนถึงนักเรียนนักศึกษาที่ได้การปลูกฝังจึงน้อมนำแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้มาปรับใช้ในยามที่บ้านเมืองเจอวิกฤติบรรเทาทุกข์เดือดร้อนกันและกันของสังคมให้เบาบางจางไปและหมดไปในที่สุด

          ล่าสุด ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สุนันทา พลโภชน์ พาไปดูวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ (วบท.) หนึ่งในสังกัด สอศ.ที่ทั่วประเทศมี 400 กว่าแห่ง ที่มีนางสาวฉันทนา โพธิครูประเสริฐ เป็นผู้อำนวยการ โดยรักษาระยะห่าง สวมหน้ากผ้า ล้างมือด้วยเจลบ่อยๆอย่างเคร่งครัด วิทยาลัยแห่งนี้อยู่ไม่ห่างจากเขตคลองสามวา กทม. ซึ่งก็ปิดวิทยาลัย โดยให้มีการจัดการเรียนการสอนทางออนไลน์แทน แต่ผู้บริหาร และครูอาจารย์สลับกันไปดูแลวิทยาลัย  เพราะมีกิจกรรมอย่างแรกเลยคือ การเย็บหน้ากากผ้าทำเจลล้างมือเพื่อแจกจ่ายช่วยผ่อนคลายการขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง

         อีกภารกิจหนึ่งที่เป็นหลักเช่นกันคือ การทำคลิปการจัดการเรียนการสอนนักเรียนนักนักศึกษาของวิทยาลัยทางออนไลน์ ผอ.ฉันทนาบอกว่า ยังได้ทำคลิปสาธิตเมนูอาหาร Online เพื่อให้เอาไปใช้ประกอบอาหารขณะที่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน หรืออาจจะนำไปพัฒนาเป็นอาชีพเสริมช่วงเหตุโรคไวรัสโควิด-19 นี้ด้วย ซึ่งเมนูอาหารนี้จะขยายผลไปยังประชาชนทั่วไปได้เรียนด้วยผ่านทางยูทูป

      “มีเมนูที่ทำเป็นคลิปทั้งคาวและหวานหลายเมนูเผยแพร่ทางยูทูฟ เช่นต้มยำไข่น้ำ ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ น้ำนมข้าวโพด ขนมอาลัว ขนมเกสรลำเจียก และที่ทำต่อเนื่องคือการผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าเฉพาะบุคคล เป็นสื่อการสอนแบบ Online ให้ผู้ที่หยุดอยู่บ้านจากวิกฤตไวรัสโควิด-19ได้เรียนรู้และสามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยครูที่ชำนาญเรื่องนี้สอนทำที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการสอนแบบ Online ผ่านรายการ BcBat Class Online ทางช่อง Youtube ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่หยุดอยู่บ้านจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 สอนแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.youtube.com”

     ผอ.ฉันทนาบอกทิ้งท้ายด้วยว่า ที่วิทยาลัยให้ความสำคัญกับการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริให้ครูอาจารย์ได้ถ่ายทอดในการจัดการเรียนการสอนปรกติทุกรายวิชาโดยการแทรกเสริมเข้าไปทั้งการสอนในสายสามัญและในการเรียนภาคปฏิบัติวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นย้ำถึงความขยัน  ความอดทน รู้จักให้อภัย รู้จักเสียสละแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยความรักเมตตาต่อกัน ปลูกฝังสำนึกให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  ในการจัดการเรียนการสอนนักเรียนนักศึกษาที่อยู่บ้านช่วงภัยจากโรคโควิด-19 ก็เน้นย้ำครูอาจารย์ได้สอดแทรกการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตเพื่อทำให้สังคมมีความสุข ตัวเองครอบครัวมีความสุขในช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com

Siamedunews.com