ร้องหลายองค์กร! เอาผิดวินัย-อาญา ปมแต่งตั้ง “ลูกชายปลัด ศธ.-5 รองอธิบดี”

ความคืบหน้าจากกรณี “สำนักข่าวการศึกษาสยามเอ็ดดูนิวส์” นำเสนอข่าวมีเสียงครหาถึงพฤติการณ์ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สุ่มเสี่ยงอาจจะขาดธรรมาภิบาลหรือไม่ กรณีการแต่งตั้ง ดร.สัมนาการณ์ บุญเรือง ผู้บริหารสถานศึกษาในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นบุตรชายของนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. ให้ขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.)

หรือสถาบันวัดไร่ขิง สังกัดสำนักงานปลัด ศธ. ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญเทียบเท่าสำนักระดับ 9 น้องๆ รองอธิบดี โดยย้ายมาแทนที่นายศัจธร วัฒนะมงคล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครูฯ ที่ได้รับแต่งตั้งจากคำสั่งที่ 528/2563 ลงนามโดยนายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ให้ย้ายไปเป็นรองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 14 นั้น

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 แหล่งข่าวในฐานะเลขานุการเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีการแต่งตั้ง ดร.สัมนาการณ์ บุญเรือง บุตรชายปลัด ศธ.ดังกล่าว แทบจะยังไม่มีใครได้เห็นตัวคำสั่งแต่งตั้งฉบับนี้เลย เห็นแต่ภาพการมารับตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันวัดไร่ขิงของนายสัมนาการณ์แล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจประการแรก

ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในด้านพฤตินัยนั้น นายสัมมนาการณ์มีอายุย่าง 36 ปี เท่านั้น จึงอาจประสบปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือจากบุคลากรในสถาบันวัดไร่ขิง โดยนายสัมมนาการณ์จะต้องมาแสดงความรู้ความสามารถในฐานะผู้นำองค์กรในการวางหลักสูตรอบรมพัฒนาบุคลากรของ ศธ.ในระดับบริหาร ตั้งแต่ระดับต้น กลาง และสูง ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ

อีกทั้งผู้ได้รับคัดเลือกให้มาเข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารในสถาบันวัดไร่ขิง ดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วมีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ต้องให้ผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งเด็กกว่ามาก มากล่าวให้โอวาสตอนเปิดอบรม ก็อาจจะมีปัญหาด้านความรู้สึกต่อกัน โดยเฉพาะการขาดความยอมรับ และอาจจะส่งผลกระทบไปถึงภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคำสั่งแต่งตั้งนายสัมมนาการณ์ดังกล่าว ในด้านกฎหมายนั้น เป็นที่สงสัยกันว่าขัดต่อกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ โดยเฉพาะ มาตรา 13 (3) ที่บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ (3) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ...”

แหล่งข่าวในฐานะเลขานุการเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า ไม่เฉพาะแต่กรณีคำสั่งแต่งตั้งนายสัมมนาการณ์เท่านั้น ที่กำลังถูกสังคมคนในแวดวงการศึกษาวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหา แต่รวมไปถึงการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น รองอธิบดี 5 ตำแหน่ง (ผู้ช่วยปลัด ศธ., รองเลขาธิการ กคศ., รองเลขาธิการ กช. และรองเลขาธิการ กศน. 2 ตำแหน่ง) ของสำนักงานปลัด ศธ. เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาด้วยว่า การปฏิบัติในกระบวนการทั้งหมดไปจนถึงการออกคำสั่งแต่งตั้งมีความถูกต้องตาม พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่

เช่น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่า มีการใช้อำนาจพิจารณาซ้ำซ้อนจริงหรือไม่ กรณีถ้าปลัด ศธ.เป็นกรรมการให้คะแนนด้วย และก็เป็นคนที่คัดเลือกรายชื่อผู้ที่ตนเองจะลงนามแต่งตั้งในขั้นตอนสุดท้าย

รวมทั้งกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาด้วยว่า มีความสุ่มเสี่ยงเกิดความไม่เป็นธรรมจริงหรือไม่ กรณีถ้าปลัด ศธ.เป็นกรรมการให้คะแนนผู้เข้ารับการคัดเลือกด้วย แม้ว่าในช่วงเวลาที่นายสัมนาการณ์ บุตรชายของปลัด ศธ. ซึ่งเข้ารับการสัมภาษณ์ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งรองเลขาธิการ กศน. และตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)

โดยที่ทางปลัด ศธ.จะไม่นั่งให้คะแนนอยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็มีเสียงครหาว่า ปลัด ศธ.จะให้คะแนนแก่ผู้เข้ารับการคัดเลือกรายอื่นๆ มากน้อยเพียงไหน ถึงแม้ว่าสุดท้าย นายสัมนาการณ์จะไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการ กศน. และรองเลขาธิการ กช. จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที

แหล่งข่าวในฐานะเลขานุการเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีกรณีเสียงครหาในช่วงของกระบวนการสัมภาษณ์ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง 5 ตำแหน่ง (ผู้ช่วยปลัด ศธ., รองเลขาธิการ กคศ., รองเลขาธิการ กช. และรองเลขาธิการ กศน. 2 ตำแหน่ง) ของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก และการรวมคะแนนเพื่อประกาศผลในช่วงวันที่ 5-6 มีนาคม 2563 จะยังไม่สิ้นสุดลงดี

 เช่น มีระดับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารายหนึ่ง เพิ่งเดินออกจากห้องสัมภาษณ์ แต่กลับมีคำสั่งแต่งตั้งในหลายตำแหน่งออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันแล้ว คือในวันที่ 6 มีนาคม 2563

ดังนั้น ข้อสงสัยทั้งกรณีการแต่งตั้งบุตรชายปลัด ศธ. และรองอธิบดี 5 ตำแหน่งดังกล่าวนี้ ทางเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย กำลังรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อทำหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบยื่นต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สํานักงาน ก.พ. , พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลปกครอง ในเร็วๆ นี้ ซึ่งไม่ใช่การเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทางวินัยเท่านั้น แต่จะรวมถึงความผิดอาญามาตรา 157 ด้วย

ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลการวิเคราะห์เจาะลึกเพิ่มเติมได้ในรายการ “รู้ทันข่าว” วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2563 นี้

รับชม/ดูย้อนหลัง “รู้ทันข่าว” โดยสำนักข่าวการศึกษาสยามเอ็ดดูนิวส์ ได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ YouTube : siamedunews , เพจ Facebook : siamedunews , twitter : eduguide 4.0 , เว็บไซต์ข่าว www.siamedunews.com