“องค์กรครู” ทวงคำตอบ “ณัฎฐพล” สอบเอาผิดแท็บเล็ต 2 พัน ล.ยุครัฐบาลปู จี้ให้ถาม “วราวิช” รมว.ศธ.แจ้ง “บิ๊กตู่” เลิกซื้อ Tablet


นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้ทำหนังสือยื่นถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน , ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รวมทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. โดยมีตัวแทนของนายณัฏฐพลรับมอบหนังสือแทน ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยตนได้ขอให้หน่วยงานเหล่านี้ ทำการตรวจสอบเพื่อหาผู้รับผิดชอบชดใช้เงินและรับผิดทางอาญา ในโครงการจัดซื้อแท็บเล็ต รวมทั้งผลิตซอฟต์แวร์เนื้อหาบทเรียนบรรจุลงในแท็บเล็ต เมื่อปี พ.ศ.2555 แจกนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 8.5 แสนเครื่อง ใช้งบประมาณราว 2 พันล้านบาท โดยเป็นการจัดซื้อตรงจากบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไวแอนทิฟิก สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอยู่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้ เนื่องจากพบความล้มเหลวเกือบ 100% ปัจจุบันทราบจากครูว่าเครื่องแท็บเล็ตส่วนใหญ่พังเกือบทั้งหมดแล้ว โดยกองเป็นซากทิ้งไว้อยู่ในโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่สามารถนำไปซ่อมแซมได้ เพราะไม่มีอะไหล่จำหน่ายในประเทศไทยนั้น

นายสานิตย์กล่าวว่า เนื่องจากช่วงเวลาที่ตนยื่นหนังสือดังกล่าวผ่านตัวแทนของนายณัฏฐพลได้ล่วงเลยมาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด ดังนั้น ตนจะทำหนังสือถึงนายณัฏฐพล เพื่อติดตามเรื่องนี้อีกครั้ง รวมทั้งทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร้องเรียนให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะการดำเนินโครงการดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิกล่าวด้วยว่า เรื่องโครงการจัดซื้อแท็บเล็ต รวมทั้งผลิตซอฟต์แวร์เนื้อหาบทเรียนบรรจุลงในแท็บเล็ต เมื่อปี พ.ศ.2555 แจกนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 8.5 แสนเครื่อง ใช้งบประมาณราว 2 พันล้านบาทนั้น ตนได้สืบค้นพบว่ามีผู้ที่อาจจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินโครงการจัดซื้อแท็บเล็ต และผลิตซอฟต์แวร์เนื้อหาบทเรียนในครั้งนั้น แก่ทั้งนายณัฏฐพล และพลเอกประยุทธ์ได้อย่างดี ซึ่งก็อยู่ใกล้ตัวนายณัฏฐพล นั่นก็คือ นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือนายณัฏฐพลนั่นเอง

ซึ่งตนสืบค้นพบว่า หนังสือพิมพ์คมชัดลึกได้ตีพิมพ์ข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2555 หัวข้อข่าว “ ‘สุชาติ’ ชี้แท็บเล็ตกระตุ้นคุณภาพ มม.แนะ ศธ.พัฒนาศักยภาพครูเอื้อการสอน" ซึ่งเนื้อข่าวระบุชัดเจนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "แท็บเล็ตช่วยตอบปัญหาการศึกษาไทยได้อย่างไร" ที่โรงเรียนดาราคาม กรุงเทพฯ โดยมี ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในขณะนั้น กล่าวเปิดงาน

และมีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ขณะนั้นเป็นนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเวทีเสวนาในฐานะผู้จัดทำเนื้อหาแท็บเล็ต ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่จำเป็นมากกว่าตัวแท็บเล็ตคือ สื่อการเรียนการสอน เนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ต ซึ่งยืนยันว่าในแท็บเล็ตมีสื่อที่เหมาะสมพอสมควร”

“ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่า นายวราวิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.น่าจะให้ข้อมูลเรื่องโครงการจัดซื้อแท็บเล็ต และผลิตซอฟต์แวร์เนื้อหาบทเรียนบรรจุลงแท็บเล็ต เมื่อปี พ.ศ.2555 แก่ทั้งนายณัฏฐพล และพลเอกประยุทธ์ได้เป็นอย่างดี”

นายสานิตย์กล่าวกรณีที่นายณัฎฐพลได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 และสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวข่าว “ ‘ณัฏฐพล’ กลับลำ เลิกซื้อแท็บเล็ตลั่นไม่หาอุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น” ว่า ตนเองยังไม่เชื่อว่านายณัฏฐพล จะไม่ซื้อแท็บเล็ต เพราะในสาระคำแถลงการณ์ทั้ง 6 ข้อ ไม่มีคำว่าไม่ซื้อแท็บเล็ตแต่อย่างใด ตนจะเชื่อก็ต่อเมื่อมีประกาศของ ศธ.ออกมาชัดเจนเป็นทางการ จึงจะวางใจได้ อย่างไรก็ตาม ตนได้รับทราบจากผู้ที่เชื่อถือได้ว่า ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหลายเดือนมานี้ แท็บเล็ตในประเทศจีนขาดตลาด เนื่องจากโรงงานผลิตประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิตต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 นายณัฏฐพล รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้กล่าวภายหลังเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามเรื่องการจัดซื้อแท็บเล็ต ตนจึงรายงานไปว่า ศธ.ไม่ได้จัดซื้อแท็บเล็ตดังกล่าวแล้ว เพราะมีทางอื่นที่ดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียงบประมาณ อีกทั้งขบวนการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องดังกล่าวมีช่องโหว่มาก ดูแล้วไม่เหมาะสมในตอนนี้

นายณัฏฐพลกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สอบถามเรื่องการสอนออนไลน์ ซึ่งตนได้ยืนยันไปว่าดำเนินการได้ โดยจะหารือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเตรียมการ นอกจากนี้ จะใช้เนื้อหาของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมด้วย ในกรณีหากต้องเรียนแบบออนไลน์

“โดยวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 นี้ จะมีการทดลองระบบก่อน จะได้รู้ว่าตรงไหนมีปัญหาอย่างไร ครูในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงหรือไม่ พื้นที่ไหนรับสัญญาณไม่ได้ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ถูกจุด ส่วนวันเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม พื้นที่ไหนเรียนรูปแบบปกติได้ ก็ใช้รูปแบบปกติ พื้นที่ไหนเรียนแบบปกติไม่ได้ ก็จะเอาวิธีการเรียนออนไลน์เข้าไปเสริม ซึ่งอย่างน้อยช่วงเวลาก่อนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม เราก็ได้ทดลองและเตรียมความพร้อมในการเรียนการสอนออนไลน์ไว้ก่อนแล้ว” นายณัฏฐพลกล่าว