เซฟ!ผู้ป่วย-หมอ “ว.สารพัดช่างฉะเชิงเทรา” พัฒนาอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ


นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า นายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ได้รับการประสาน ผ่านทางศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ผลิตอุปกรณ์ถุงคลุมผู้ป่วยต้นแบบที่ทางทีมแพทย์ให้คำแนะนำมา เพื่อใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากไม่มีการป้องกันที่รัดกุมก็อาจจะแพร่เชื้อได้

โดยทีมงานวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทราได้ร่วมกับทีมแพทย์ตรวจหาจุดอ่อนของถุงคลุมผู้ป่วยต้นแบบ และพบว่าวัสดุที่ใช้ทำถุงคลุมผู้ป่วยไม่ทนทาน ฉีกขาดง่าย อุปกรณ์ยึดติด (ตีนตุ๊กแก) เปิด-ปิดไม่สะดวก แรงดูดอากาศแรงเกินไป จนเกิดสุญญากาศ และไม่มีช่องให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น ทีมวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา จึงได้ออกแบบและพัฒนาเป็นชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (Negative pressure) ขึ้นมา

ด้านนายสุริยะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางวิทยาลัยได้มอบหมายให้คณะทำงาน นายชำนาญ แสงทอง รองผู้อำนวยการวิทยาลัย เป็นหัวหน้าทีม โดยมีนายนรเศรษฐ์ ศิริไปล์ และนางสาวจรวย วิหกเหิน ครูแผนกวิชาคอมพิวเตอร์ เป็นผู้ออกแบบขนาด และกระบวนการเย็บ ตลอดจนประสานงาน Supplier จัดหาวัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บ

มีนางสมหมาย ยินดีภพ ครูแผนกผ้าและเครื่องแต่งกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดเย็บ เป็นผู้ประสานงานและควบคุมการตัดเย็บ , นายปรารภ โกศล และนายพิสิษฐ์ ใจอารีย์ ตลอดจนครูแผนกช่างยนต์ พัฒนาเครื่องดูดอากาศแบบแรงดันลบ และนายอนุสรณ์ แสงดาว ครูแผนกเทคนิคพื้นฐาน ออกแบบและประสานงานการเชื่อมเตียงเคลื่อนย้าย โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งได้แก่ ผ้าใบชนิด HDPE แถบกุ๊น ซิป จากทางกลุ่มจิตอาสา และถุงมือจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา

ซึ่งได้ทำการศึกษาและหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับพัฒนารูปแบบใหม่ จนได้เป็นชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (Negative pressure) เป็น Prototype ของวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ซึ่งชุดดูดอากาศจะมีตัวกรอง 3 ชั้น ด้านบนติดด้วยหลอดไฟ UV กั้นด้วยกระจก ตัวกรองสามารถถอดเปลี่ยนได้ มีพัดลมระบายอากาศแบบมอเตอร์ขนาด ¼ แรง และนำกลับไปทดสอบกับทีมแพทย์แล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ในการมีส่วนร่วมพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อช่วยนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปได้

ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา กล่าวต่อว่า ชุดอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นนี้ ใช้ได้กับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยติดเชื้ออื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยชุดอุปกรณ์ที่ทางวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทราร่วมพัฒนาขึ้นมานี้ มีราคาประมาณชุดละ 5 หมื่นบาท ขณะที่หากเป็นการนำเข้าจะมีราคาสูงถึงกว่า 5 แสนบาท 

ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อขอให้วิทยาลัยช่วยผลิตชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ Negative pressure นี้ เฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ทางวิทยาลัยกำลังเร่งดำเนินการจัดทำให้ 20 ชุด 

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานของวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา กำลังเร่งพัฒนาชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ Negative pressure ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้น พร้อมทั้งศึกษาแนวทางในการที่จะผลิตหมวกกันละอองฝอย เพื่อร่วมในการใช้งานด้วยต่อไป” นายสุริยะกล่าว