รมว.ศธ.สั่งปรับแผนใช้งบฯ63 ชง "ก.คลัง" งดเก็บค่าเทอม ปวส.

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 เพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งแรงงานที่กำลังเข้าสู่ระบบหรือเด็กอาชีวะจบใหม่ โดยให้จัดหาครูสอนเสริมความรู้ ฝึกอาชีพ และเรียนออนไลน์ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ให้ทั่วถึง และตนเตรียมเสนอกระทรวงการคลังของดเก็บค่าเทอมนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งมั่นใจว่านโยบายเหล่านี้จะเกิดประโยชน์กับประชาชน และทำให้ผู้ที่เรียนสายอาชีวะเมื่อจบแล้วจะมีงานทำ มีรายได้ช่วยเหลือตนเองและครอบครัวต่อไป

รายงานจากผู้สื่อข่า"สำนักข่าวการศึกษาสยามเอ็ดดูนิวส์" ให้รายละเอียดอีกด้วยว่า ปกติแล้วผู้เรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะเก็บค่าหน่วยกิตสะสมเทอมละ 5,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะนี้ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนักศึกษาระดับ ปวส.อยู่ประมาณ 3.5 แสนคน หากนโยบายงดเก็บค่าเทอมนี้เป็นจริง ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวเด็กอาชีวะเหล่านี้ที่กำลังเผชิญกับการว่างงานหรือขาดรายได้  

อย่างไรก็ตาม นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กำลังดำเนินการเรื่องการเรียนรู้หรือเพื่อเพิ่มคุณภาพทางวิชาชีพให้กับผู้เรียนมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีทั้งสถาบันการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และร่วมกันพัฒนาผู้เรียน ขณะนี้มีสถานประกอบการเสนอหลักสูตรแบบรวดเร็ว เช่น เรียนรู้ระดับ ปวช.-ปวส. เพียง 4 ปี เรียนจบแล้วรับเข้าทำงานทันที ไม่ต้องอยู่ในระบบถึง 5 ปี โดยการศึกษาต่อจะมีกการแนะนำแนวทางนี้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้และเติมเต็มให้กับการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงขึ้น

รายงานแจ้งอีกด้วยว่า สถานประกอบการหลายแห่งอย่างเช่น บริษัท ไมโครซอฟท์ และหัวเว่ย เสนอหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคนี้ และยังเชื่อมโยงกับรายได้ของผู้เรียนที่สูงขึ้นด้วย คือให้เด็กเรียน ปวช.และ ปวส.เพียง 4 ปีจบ