กค.63 ระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนิคมพัฒนา จ.สตูล

 "...หลักสําคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพราะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..."

 พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร พระราชทานเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ ๒๕๓๙ ณ พระตำหนักจิตรลดาโหฐาน พระราชวังดุสิต

แสดงถึงพระวิสัยทรรศน์และพระอัจฉริยภาพในการทรงตระหนักถึงความสำคัญของน้ำต่อความอยู่รอดของชีวิต ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ รวมถึงสรรพสิ่งที่ขาดน้ำไม่ได้ โดยเหตุที่น้ำเป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีน้ำ ชีวิตก็ไม่สามารถอยู่รอดได้

ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีลำคลอง 1 สายไหลผ่านคือคลองมะนัง ประชากรในพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นชาวชุมชนดั้งเดิมของพื้นที่ แต่วันนี้ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช มีอาชีพทำสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพหลัก นับถือศาสนาพุทธประมาณร้อยละ 60 มีวัดพุทธอยู่ 8 วัด สำนักสงฆ์ 3 แห่ง มีชาวมุสลิมอยู่ประมาณร้อยละ 40 มีมัสยิด 7 แห่ง สุเหร่า 5 แห่ง โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม (ปอเนาะ) 2 แห่ง นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของภาคใต้ที่ประชากรทั้งไทยพุทธ และไทยมุสลิมอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ไม่มีปัญหาความขัดแย้งทางความคิด

แต่ปัญหาที่ทุกครัวเรือนพบเจอเฉกเช่นเดียวกันคือความยากจนขาดแคลนมายาวนานเนื่องจากพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงจึงทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เมื่อเข้าหน้าฝน น้ำฝนที่ตกลงมาจะไหลลงเบื้องล่างออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงหน้าแล้งพื้นที่จึงไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่  ทำให้ขาดแคลนน้ำ

นายสุทา  อินยอด ราษฎรหมู่ที่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือโครงการแหล่งน้ำในพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนาเผยว่า ตำบลนิคมพัฒนา เป็นตำบลที่ถูกจัดสรรโดยนิคมสร้างตนเอง ราษฎรที่เข้ามาอยู่อาศัยจึงมาจากหลายจังหวัด โดยการจัดสรรของกรมที่ดิน ในช่วงแรก ๆ พื้นที่เป็นป่ามีความอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อมีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น การเปิดพื้นที่ทำกินจึงมากตามไปด้วย ป่าก็ถูกทำลายเพื่อมาเป็นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ทำให้น้ำตามธรรมชาติหดหาย ลำคลองตื้นเขิน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ในที่สุดน้ำตามธรรมชาติก็ไม่เพียงพอตามความต้องการใช้

ไม้ผลที่ปลูกไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็เริ่มยืนต้นตาย น้ำใช้ในครอบครัวต้องให้ท้องถิ่นบรรทุกไปส่งเป็นรายครอบครัวเกิดค่าใช้จ่ายสูง เลยมีแนวคิดว่าในพื้นที่ยังมีน้ำต้นทุนอยู่ที่คลองผัง 20 มีน้ำไหลทั้งปีแต่ชาวบ้านไม่มีงบประมาณที่จะดึงน้ำจากตรงนี้ไปใช้ได้ จึงขอพระราชทานความช่วยเหลือด้วยการถวายฎีกา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโครงการก่อสร้างระบบประปาบ้านผัง 16 พร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560   

ในการดำเนินโครงการฯ ได้มีการแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยในระยะที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พิจารณาอนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และโรงกรองน้ำพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 100 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงอย่างละ 2 เครื่อง รวมทั้งติดตั้งระบบท่อส่งน้ำดิบความยาว 2,040 เมตร ส่วนกิจกรรมประกอบอื่น ๆ ทางกรมชลประทานจะจัดสรรงบประมาณปกติดำเนินการด้วยการติดตั้งระบบท่อส่งน้ำเพิ่มเติม ได้แก่ สายที่ 1,2 และ 3 (บางส่วน) สาย 6,7 และ 8 ความยาวรวม 22,755 เมตร ส่วนในระยะที่ 2 ซึ่งจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ทางกรมชลประทานจะใช้งบประมาณปกติ ดำเนินการติดตั้งระบบท่อส่งน้ำเพิ่มเติม ได้แก่ สายที่ 3 (ส่วนที่เหลือ) สายที่ 4 และ 5 ความยาวรวม 8,343 เมตร

ล่าสุด พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการ พบว่าโครงการฯมีความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างเป็นที่น่าพึงพอใจยิ่งโดยภาพรวมผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 72 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้

โอกาสนี้ องคมนตรีและคณะได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาโพง ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาประจำถิ่นของจังหวัดสตูล และปลาตะเพียนขาว รวม 100,000 ตัว ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติของพื้นที่เพื่อแพร่ขยายพันธุ์เป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กับราษฎรในพื้นที่ต่อไป

“นับเป็นบุญของพวกเราที่เกิดมาบนประเทศไทยที่พิเศษกว่าที่อื่น ยามวิกฤติ ยามเดือดร้อนสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง พระองค์เสด็จฯ มาไม่ได้ ก็ให้ท่านองคมนตรีเดินทางมาติดตามการดำเนินงาน โครงการนี้เมื่อแล้วเสร็จ พวกเราทุกคนในพื้นที่จะดูแลให้ดีจะรักษาโครงการที่พระองค์ท่านพระราชทานมาให้ ให้สามารถใช้ประโยชน์ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป และทุกคนจะเป็นลูกหลานที่ดีของพระองค์ จะเทิดทูนทุกพระองค์ไว้เหนือเกล้าฯ ก็อยากจะบอกพระองค์ท่านทุกพระองค์ว่า พวกเราทุกคนรักท่านและอยากให้ทุกพระองค์ได้อยู่กับพวกเราไปตราบนานเท่านาน และขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญ” นายสุทา  อินยอด กล่าว

ทรงสร้างสุขทั้งแผ่นดิน

Seksan2493@yahoo.com

siamedunews