โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระพันปีหลวง วันนี้ชาวโปงน้ำร้อนกำแพงเพชรอยู่กับป่ายั่งยืน

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าตั้งอยู่ที่บ้านป่าคา ตําบลโป่งน้ำร้อน อําเภอคลองลาน จังหวัดกําแพงเพชร มีเส้นทางเข้าออกทางเดียว ทําให้เข้าถึงการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนเครื่องมือสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึมซับการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างพึ่งพาแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามวิสัยความเป็นคนดีมีน้อย การประกอบอาชีพจึงมีทางเลือกน้อย ด้วยเหตุปัจจัยแห่งการขาดแคลนหลายอย่าง

อาชีพหลักของพื้นถิ่นคือการเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยปัจจัยหลักสำคัญคือน้ำก็มีปัญหาการขาดแคลน  แม้ว่าจะมีผลผลิตบ้างที่เหลือจากการบริโภคการนําพืชผลทางการเกษตรออกไปจําหน่ายเป็นไปได้ยากลําบาก ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรแบบหมุนเวียนประมาณ 3-4 ปีบุกรุกผืนป่าหมุนเวียนมาทําในพื้นที่เดิมอยู่อย่างนั้น และ เมื่อต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้นการบุกรุกถากถางป่าก็เกิดเพิ่มขึ้น นั่นเป็นวิถีชีวิตของราษฎรชาวเขาหรือชนกลุ่มน้อย ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่มาก ถึง 5 เผ่าได้แก่ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง มูเซอ และลีซอในพื้นถิ่นดังกล่าว 

เมื่อความทราบถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  พระองค์จึงทรงให้หาทางแก้ไขด้วยการให้ดำเนินงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านป่าคาขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้โดยมุ่งส่งเสริมอาชีพ ด้านการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการด้วยการจัดตั้งโครงการฯ ขึ้น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน

นายสุนทร จันทร์คีรีรุ่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ  เผยว่าเมื่อก่อนจะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังจากทางการโครงการฯ นำพืชผักเมืองหนาวมาปลูกภายในสถานีฯ มีเกษตรกรจากบ้านป่าคามาเป็นคนงานทำให้การเพาะปลูกของราษฎรมีการเปลี่ยนแปลง

“ได้เรียนรู้การปลูกพืชผัก อาทิ ผักกาดขาวใหญ่ คะน้าฮ่องเต้ ฟักทองญี่ปุ่น ซาโยเต้ สตอเบอรี่ เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค แล้วนำไปปลูกและขยายผลในพื้นที่ตัวเองปรากฏว่าได้ผลดี ทุกคนจึงหันมาปลูกผักซาโยเต้ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 96 กิโลกรัม/ไร่ กินเองด้วย ขายด้วยทำให้มีรายได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อพื้นที่เกิดผลผลิตดี พออยู่พอกินพอขายก็ไม่ต้องไปรุกป่าเพิ่มทำให้ปัญหาที่การบุกรุกพื้นที่ป่าลดลงโดยในช่วง ปี พ.ศ. 2559 ถึงพ.ศ. 2562 ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า จังหวัดกำแพงเพชรเลย ”นายสุนทร จันทร์คีรีรุ่ง กล่าว

ด้านนายจักรพงษ์ ม้าเจริญตระกูล เกษตรกรบ้านป่าคา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ที่ได้เรียนรู้การทำการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตด้านการเกษตรจากโครงการฯ และนำมาปรับใช้ในแปลงปลูกของตนเองเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี บนพื้นที่ 6 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ 2 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น อะโวคาโด แมคคาดีเมีย กาแฟ มะขามป้อม ส่วนที่เหลือปลูกพืชล้มลุก เช่น มันญี่ปุ่น สตอเบอรี่ มีรายได้จากจำหน่ายกาแฟ ชาเปลือกกาแฟ อาโวคาโด ซาโยเต้ และพืชผักปลอดสารอื่นๆ หักค่าใช้จ่ายแล้วยังมีเงินเหลือเก็บแสนกว่าบาทต่อปี และคาดว่าหากอาโวคาโดให้ผลผลิตในอีก 2 ปี ข้างหน้า ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง  นับว่าสถานีพัฒนาการเกษตรตามพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงแห่งนี้ที่ทรงให้ตั้งขึ้นอันเกิดจากพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยประชาชนเป็นสิ่งที่มีค่าอันประเสริฐ  ที่ทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา สนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงตั้งพระราชหฤทัย สืบสาน รักษา ต่อยอด สืบสานพระราชปณิธานพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ พร้อมเชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการฯ จำนวน 300 ชุด โอกาสนี้ได้พบปะเยี่ยมราษฎรชาวไทยภูเขา บ้านป่าคา บ้านโละโคะ และบ้านป่าหมาก เพื่อรับทราบชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ

จากการเยี่ยมชมโครงการฯ พบว่าราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน โดยการปลูกพืชผักเมืองหนาวทดแทนพืชเชิงเดี่ยว ส่งผลให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทำให้ปัญหายาเสพติด และการบุกรุกพื้นที่ป่าลดน้อยลง โดยในช่วงปี 2559-2562 พบว่าไม่มีการบุกรุกพื้นป่าในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าเพิ่มเติม ส่วนที่เป็นป่าเสื่อมโทรมและที่ราษฎรเคยใช้ทำไร่เลื่อนลอยจะมีการฟื้นผืนป่ากลับคืนมาต่อไป

นายพงษ์ศักดิ์ ด้วงโยธา ผู้อำนวยการสำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยว่าโครงการนี้ เป็นหนึ่งใน 18 โครงการที่กรมอุทยานฯรับผิดชอบดำเนินการซึ่งประสบความสำเร็จอย่างเห็นเป็นรูปธรรม ราษฎรสามารถใช้พื้นที่เพื่อการทำกินแบบที่เดียวแต่รับประโยชน์ตลอดทั้งปีได้ โดยเฉพาะการปลูกซาโยเต้แบบปลอดสารพิษ สร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อครอบครัวต่อปี และได้มอบคืนพื้นที่เดิมที่เคยใช้ทำไร่บนยอดเขาให้กับทางการ ซึ่งจะมีการนำมาปลูกป่าคืนความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศต่อไป

“การเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานขององคมนตรีและคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ ในครั้งนี้ได้มีการติดตามเรื่องแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเพาะปลูกของราษฎรในพื้นที่คือฝายทดน้ำในลำน้ำอุ่น ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติเพื่อใช้พื้นที่สำหรับก่อสร้างจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเรียบร้อยแล้วคาดว่าในปี 2563 จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เมื่อแล้วเสร็จจะเอื้อประโยชน์ด้านแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรได้ตลอดทั้งปี” นายพงษ์ศักดิ์ ด้วงโยธา กล่าว

            

และในโอกาสนี้องคมนตรีและคณะ ได้มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ พร้อมทั้งการเตรียมการและแนวทางเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนให้โครงการฯ ได้สนองพระราชดำริเพิ่มมากขึ้น โดยกรมชลประทานได้รายงานถึงความคืบหน้าในการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการเพื่อจัดสร้างแหล่งเก็บกักน้ำและฝายทดน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและส่งน้ำสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการฯ และการทำการเกษตรของราษฎรในพื้นที่เป็นการเพิ่มเติมอีกด้วย

 ทรงสร้างสุขทั้งแผ่นดิน

Seksan2493@yahoo.com

siamedunews