พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท น้อมนำปฏิบัติแล้วเกิดความสุขในการดำเนินชีวิต

นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติตราบจนเสด็จสวรรคต พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย  ทรงสร้างสุขให้แก่คนไทยทั้งแผ่นดิน โดยทรงมุ่งเน้นให้ราษฎรทุกคนในทุกภูมิภาคทุกสาขาอาชีพมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี  มีการดำเนินชีวิตที่มั่นคงแข็งแกร่งบนความพออยู่พอกินพึ่งพาตนเองได้และสำคัญที่สุดคือ มีความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน

ดังจะเห็นได้จากแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้เป็นศาสตร์พระราชา เพื่อทรงชี้แนะแนวทางแห่งปัญญาพิจารณาแยกแยะทางดีทางไม่ดี  เพื่อเป็นแสงสว่างในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดยาวนาน  70  ปี ทรงร่วมผจญวิกฤติต่างๆกับประชาชนของพระองค์มามากมายอย่างวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจพศ.2540 และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตที่ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก  โดยทรงย้ำให้หันมาพึ่งพิงปัจจัยภายในพึ่งพิงภูมิปัญญาไทยตามพระราชดำริที่ทรงให้เดินตามวิถีแห่งความพอเพียง อันจะเป็นทางที่สามารถนำสู่การดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของโลก

                ประชาชนคนไทยผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตสามารถปรับตัว และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน นำสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข   ยิ่งประชาชนชาวไทยทุกคนเป็นผู้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างทั่วหน้ากัน พึ่งพาตนเองได้อย่างพออยู่พอกินโดยพึ่งพาปัจจัยใจภายในที่มีอยู่มากมายย่อมจะนำพาชาติบ้านเมืองเข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย

                 โดยการศึกษาผ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานให้แก่พสกนิกรและคณะบุคคลในโอกาสต่างๆตลอดเวลาแห่งพระชนมชีพ

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวทางให้ประชาชนชาวไทยมีเป้าหมายหลักในการดำเนินชีวิต  เพื่อความสุขเป็นสำคัญ วันนี้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขออัญเชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต เพื่อน้อมนำเน้นย้ำสู่สำนึกประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าเพื่อศึกษาและน้อมนำไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง  

                พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลและรักบี้ฟุตบอลหารายได้สมทบทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯและมูลนิธิส่งเสริมความสะอาดและสุขภาพนักเรียน เกี่ยวกับพระราชปรารถนาให้ทุกท่านมีสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพใจที่เข้มแข็ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2511 ความตอนหนึ่งว่า

                “...ขอให้ทุกคนมีพลานามัยแข็งแรง มีจิตใจเข้มแข็ง และมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในหน้าที่การงานที่ดีและในส่วนตัว เพื่อจะได้มีความเจริญก้าวหน้า มีความสุขใจสุขกายตลอดไปชั่วกาลนาน ส่วนรวมจะได้เป็นปึกแผ่น เราจะได้อยู่ในสังคมที่เรียบร้อย อยู่ในประเทศที่มั่นคงที่มีความก้าวหน้า ขอให้ทุกคนประสบแต่โชคดี มีความสุขความเจริญ ความก้าวหน้าและมีความสุขทั่วกัน”

                พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกี่ยวกับการพึงระวังใจของตนให้ดี ไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นต้องรีบกำจัดทันที ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2524 ความตอนหนึ่งว่า

                “...จิตใจที่ต่ำทรามนั้นเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่กล้าและไม่อดทนที่จะเพียรพยายามสร้างสมความดีงาม ความเจริญ ความสำเร็จในทางที่ถูกต้อง เป็นธรรม  มีแต่คิดจะให้ได้มาโดยสะดวกง่ายดาย โดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี จิตใจดังนี้ ถ้าปล่อยให้เกิดมีขึ้นจนเคยชิน อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เป็นคนมักง่าย ทำงานบกพร่องเสียหาย อย่างมาก ก็ทำให้เป็นคนด้านหนาไร้ความอาย หยาบคาย ละโมบ ทำอะไรที่ไหน ก็เกิดอันตรายที่นั่น ท่านจึงสอนให้สังวรระวังใจของตนให้ดี อย่าให้ความชั่วเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นแล้ว ก็ให้กำจัดเสียทันที  นอกจากนี้ ก็ต้องฝึกหัดบำรุงใจให้เข้มแข็งและประณีตขึ้น เพื่อรับเอาความดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ก้าวถึงความสุขและความเจริญมั่นคง   การฝึกใจให้เข้มแข็งนี้ ถ้าหากจะรู้สึกว่าเป็นการเหนื่อยยาก แต่ถ้าได้ตั้งใจฝึกฝนโดยสม่ำเสมอให้เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับไม่ช้านานก็จะเกิดกำลังแข็งแรงเกิดความชำนาญ คล่องแคล่ว จนสามารถทำความดีได้ง่ายขึ้น ไม่เหนื่อยยากเลย...”

                พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เกี่ยวกับการมีสติสัมปชัญญะที่ดี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2532ความตอนหนึ่งว่า

                “...คนเราทุกคนก็อายุมากขึ้นทุกวัน หนึ่งวัน สองวัน ก็อายุมากขึ้นหนึ่งวันสองวัน จะต้องฉุดจิตใจให้แข็งแรง ให้ไม่มีความวุ่นวาย สามารถที่จะเลือกทำอะไรต่ออะไรด้วยความระมัดระวัง คือคิดด้วยสติสัมปชัญญะที่ดี อันนี้ก็เป็นข้อสำคัญ...”

                พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเกี่ยวกับการฝึกฝนตนเองให้มีความคิดที่เที่ยงตรง เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญให้ส่วนรวม ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2533 ความตอนหนึ่งว่า

                “...การคิดการปฏิบัติให้ถูกให้ดีนั้น ก็คือการคิดและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการ หลักวิชา หลักเหตุผล และหลักสุจริตธรรม. ผู้มุ่งหมายจะสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญ จึงควรพยายามปฏิบัติฝึกฝนตนเองให้มีความคิดจิตใจที่เที่ยงตรง และมั่นคงเป็นกลาง เป็นอิสระจากอคติ ซึ่งมีหลักฝึกหัดที่สำคัญประกอบส่งเสริมกันอยู่สองข้อ. ข้อแรก ให้หัดพูดหัดทำหัดคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทพลาดผิดและอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น. ข้อสอง ให้หัดใช้ปัญญาความฉลาดรู้ เป็นเครื่องวิเคราะห์และวินิจฉัยเรื่องราว ปัญหาต่างๆ ทุกอย่างที่จะต้องขบคิดแก้ไข เพื่อช่วยให้เห็นเหตุ เห็นสาระได้ชัด และวินิจฉัยได้ถูกต้องเที่ยงตรง ว่าข้อที่เท็จ ที่จริง ที่ถูก ที่ผิด ที่เป็นประโยชน์ ที่มิใช่ประโยชน์ อยู่ตรงไหน. สติ และปัญญา ที่ได้ฝึกฝนใช้จนคล่องแคล่วเคยชินแล้ว จะรวมเข้าเป็นสติปัญญา ที่จะส่งเสริมให้บุคคลสามารถคิดอ่านและประพฤติปฏิบัติได้ถูก ได้ดี ให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่ส่วนรวมได้สมบูรณ์พร้อมทุกส่วน...”

                พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการมีความจริงใจต่อผู้อื่นที่เป็นคุณธรรมสำคัญนำสู่ความสำเร็จและความเจริญ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2535ความตอนหนึ่งว่า

                “...ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน. นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่ายที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี. ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใด ก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น...”

                พระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2557 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ความตอนหนึ่งว่า

                “...ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดีมาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ให้มีความสุข ความเจริญ และความสำเร็จ สมประสงค์ในสิ่งที่ปรารถนา  ความปรารถนาของทุกๆ คนคงไม่แตกต่างกันนัก คือ ต้องการให้ตนเองมีความสุข ความเจริญ และให้บ้านเมืองมีความสงบ ร่มเย็น  ในปีใหม่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสุขภาพกายสุขภาพจิต ให้สมบูรณ์ แข็งแรง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มกำลัง ข้อสำคัญ จะคิด จะทำสิ่งใด ให้นึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยไว้เสมอ  งานของตน และงานของชาติ จะได้ดำเนินก้าวหน้าไปโดยถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ติดขัด และบรรลุถึงประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญ และความสงบร่มเย็น ดังที่ทุกคนตั้งใจปรารถนา  ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครอง รักษาท่านทุกคนให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ ตลอดศกหน้านี้ โดยทั่วกัน.”

 

ทรงสร้างสุขทั้งแผ่นดิน

เสกสรร  สิทธาคม

Seksan2493@yahoo.com

siamedunews