เร่งสร้างครูโค้ดดิ้ง ป้อนตลาดแรงงานยุคดิจิทัล

จากรายงานของ World Economic Forum (WEF) คาดภายในปี 2565 สัดส่วนการทำงานร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักรหรือระบบอัลกอริทึม จะอยู่ที่มนุษย์ ร้อยละ 58 เครื่องจักร ร้อยละ 42 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงโลกแห่งการทำงานต้องการคนที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชุดใหม่โดยเฉพาะทักษะด้านการโค้ดดิ้ง จัดเป็น 1 ใน 10 ที่ต้องการสูงสุดระดับประเทศและระดับโลก

ในสหรัฐอเมริกาพบการจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสายงานไอทีมีแนวโน้มโตขึ้น ร้อยละ 13 จากปี 2559 - 2569 เพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของทุกอาชีพ โดยจะมุ่งเน้นไปที่ cloud computing, big data, and information security คาดในปี 2566 ทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอทีกว่า 2 ล้านตำแหน่ง อีกทั้งการทรานฟอร์มองค์กรเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญคือทักษะของบุคคลในองค์กรที่จำเป็นต้องถูกพัฒนาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง  

แนวโน้มดังกล่าว ชี้ชัดให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะการทำงานในอนาคตของตลาดแรงงาน ที่มีความต้องการจากตลาดสูงสุด กลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้ให้บริการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร แก่องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ผู้ก่อตั้งโครงการ CDG Code Their Dreams ร่วมมือกับ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ จัดทำโครงการ “CDG Code Their Dreams: Public Training” เป็นหลักสูตรการสอนทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดยจะถ่ายทอดการเรียนการสอนด้านโค้ดดิ้ง และทักษะด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์อื่นๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคคลทั่วไป เน้นการพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาคอมพิวเตอร์และเตรียมความพร้อมเชิงดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน และปูความพร้อมแก่นักศึกษาสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริงรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤช  สินธนะกุล หัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม กล่าวว่า วัตถุประสงค์โครงการมุ่งเน้นปูพื้นฐานด้านโคดดิ้ง หรือการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ โดยจะถ่ายทอดการเรียนการสอนด้านโค้ดดิ้งให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคคลทั่วไป โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่รับความรู้ สามารถนำไปถ่ายทอดต่อในการเรียนสอน รวมทั้งปูความพร้อมแก่นักศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการทำงานได้จริง อาทิ โปรแกรม Scratch, หุ่นยนต์ถอดประกอบ mBot, โปรแกรม Thunkable สำหรับสร้าง application, สติ๊กเกอร์ Line

ในปีที่ผ่านมา และในปีนี้จะมีภาษาคอมพิวเตอร์ Python, วิธีการทำ Motion Graphic, วิธีการประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตในการทำงาน IoT Smart Building เพิ่มเติมจากของปีที่แล้ว ทั้งหมดในปี 2563 นี้ ตั้งเป้ารวม 30 คอร์ส โดยจุดเด่นของหลักสูตรคือรูปแบบการเรียนการสอนที่เข้าใจง่าย เป็นขั้นเป็นตอน มีกิจกรรมที่สามารถสร้างความเข้าใจ ทำตามและเห็นผลจริง ประยุกต์ใช้ได้ สามารถถ่ายทอดต่อได้ ทำให้ในปีที่ผ่านมา โครงการได้สร้างครู อาจารย์ รวมถึงบุคลากรด้านโค้ดดิ้งเพิ่มมากกว่า 200 คน และคาดว่าในปีนี้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอีกกว่า 1,000 คน

"หัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในยุคนี้คือ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี และต้องลงมือทำเองเป็น โดยการมีสมรรถนะในวิชาชีพนั้น ๆ ให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ และเจตคติในอาชีพนั้น ๆ โดยการเรียนด้านโค้ดดิ้งจะเข้าไปช่วยจุดประกายให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล พัฒนาต่อยอดสิ่งต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากแต่ละขั้นตอนในการเขียนโค้ด ผู้เรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการวางแผน ฝึกกระบวนการคิดและลงมือทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมีประสิทธิภาพ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤช  กล่าว

นาย ฐิติพงศ์ ธรรมวิสุทธิ์ นักศึกษาปริญญาโท หนึ่งในวิทยากรโครงการ CDG Code Their Dreams: Public Training เปิดมุมมองในฐานะผู้ถ่ายทอดการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง ว่า คนในยุคนี้เกิดมาในยุคของการปฎิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของการใช้ชีวิต การพัฒนาศักยภาพและความรู้ รวมถึงกระบวนการคิด ให้สามารถออกแบบการทำงานและควบคุมการทำงานด้วยเทคโนโลยี หรือจำกัดความให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า "คนยุคใหม่ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพการทำงาน” 

ยิ่งเครื่องจักรพัฒนาเร็วเท่าไหร่ เรายิ่งต้องปรับตัวให้เร็วขึ้นเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการปรับตัวคือ การปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อระบบอัตโนมัติ จากที่เคยมองว่าเครื่องจักรเป็นภัยคุกคามและจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ เป็นการมองว่า ระบบอัตโนมัติเป็นเครื่องมือ หรือสิ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนต่อยอดงานเรา รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ โดยการเรียนโค้ดดิ้งในโครงการ CDG Code Their Dreams: Public Training ในครั้งนี้ คือได้หลักการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จากการทำ workshop ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจการป้อนคำสั่งด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ การเขียนโค้ดที่ถูกต้อง และการสร้างผลงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น Scratch หรือ Thunkable  ถือเป็นตัวฝึกฝนที่ดีสำหรับผู้เรียนหลักสูตรนี้ 

ด้าน นาย จักรภัทธ จอมพันธ์ นักศึกษาปริญญาโท ผู้เข้าร่วมเป็นครูฝึกสอนของโครงการฯ อีกรายหนึ่ง ร่วมแบ่งปันสิ่งที่ได้รับในมุมมองของผู้ถ่ายทอดว่า ตนเองได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และเทคนิคการสอนได้ต่อยอดความรู้ด้านโค้ดดิ้ง รวมทั้งได้วิธีการถ่ายทอดความรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในรูปแบบที่ใหม่และแตกต่างกันในทุกครั้ง ซึ่งเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถสร้างคนให้มีความรู้ในด้านโค้ดดิ้ง 

"สิ่งที่เห็นได้ชัดจากผู้เรียนคือ ทักษะการคิดอย่างเป็นตรรกะ คิดอย่างมีลำดับขั้นตอน ซึ่งสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันและในการทำงาน ซึ่งผู้เรียนเกือบ 100% สนใจที่จะเรียนเพิ่มเติมในคอร์สอื่น ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านโค้ดดิ้งให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของผู้ถ่ายทอด และของโครงการฯ ที่มีความตั้งใจที่จะผลิตเยาวชนไทยให้ก้าวทันต่อตลาดแรงงานโลก"

อย่างไรก็ตาม นายนาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้ก่อตั้งโครงการ CDG Code Their Dreams กล่าวว่า แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อตลาดแรงงานทั้งในวันนี้และอนาคต มนุษย์ ยังคงเป็นกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ การยอมรับและตื่นตัว รวมถึงไม่นิ่งดูดายที่จะลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง และร่วมมือกันพัฒนาเยาวชนไทยที่จะเป็นแรงงานในอนาคตให้เหนือกว่าเทคโนโลยี จะเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้เด็กไทย สามารถอยู่รอดได้ในยุคสมรภูมิดิจิทัล การผนึกกันระหว่างแรงงานมนุษย์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการอยู่รอดและความสำเร็จในโลกแห่งดิจิทัล