ธนุ.ไม่เฉย สั่งทุกเขตพื้นที่ฯเดินหน้าปูพรมสำรวจเด็กหลุดระบบ หลังกสศ.ระบุ 1.02 ล้าน สวนทางตัวเลข สพฐ.มี 6 แสนเศษ

 

ธนุ.ไม่เฉย สั่งทุกเขตพื้นที่ฯเดินหน้าปูพรมสำรวจเด็กหลุดระบบ หลังกสศ.ระบุ 1.02 ล้าน สวนทางตัวเลข สพฐ.มี 6 แสนเศษ - จ่อปรับเกณฑ์ย้ายครูอีกรอบ

 

วันที่ 22 ตุลาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ครั้งที่ 42/2567 โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต รวมถึงที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ zoom meeting

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขับเคลื่อนนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน สร้างโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองมีสุข โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน “ร่วมกันปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน”

 

จึงขอความร่วมมือให้ทุกสำนักและเขตพื้นที่ เร่งรัดการดำเนินงานในความรับผิดชอบของตนเอง ด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่เป้าหมายคือการยกระดับการศึกษาของประเทศ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งนำข้อสั่งการของ รมว.ศธ. แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรดำเนินการขับเคลื่อนเร่งด่วน ดังนี้

 

เรื่องแรก คือ เตรียมการฟื้นฟูโรงเรียนในภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย โดยเฉพาะโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนฯ เนื่องจากเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา รมว.ศธ.และตนได้ลงไปตรวจเยี่ยม พบว่ายังมีดินโคลนท่วมสูงถึงเข่า จึงได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานทหาร องค์กรเอกชน และมูลนิธิต่างๆ และที่สำคัญได้ให้นักการภารโรงในเขตพื้นที่ สพป.เชียงราย เขต 3 ระดมกำลังกันทำความสะอาด

 

ทั้งนี้มีเป้าหมาย คือ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จะสามารถเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ และได้เร่งการจัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับปรุงซ่อมแซมให้กับทุกโรงเรียน ให้สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้อย่างปกติ โดยใช้คำว่า “10 วันสร้าง 10 วันซ่อม” เพื่อให้โรงเรียนเปิดเทอมทันวันที่ 1 พฤศจิกายนได้ตามปกติ

 

เรื่องที่สอง สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล “Thailand Zero dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” จึงให้ ผอ.สพท. สำรวจข้อมูลเด็กนักเรียนในเขตพื้นที่ของตนเองว่า มีจำนวนตกหล่นอยู่เท่าไหร่ ซึ่งตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอยู่จำนวน 1.02 ล้านคน

 

แต่ในส่วนของ สพฐ.เอง ตรวจสอบแล้วพบว่ามีจำนวน 6 แสนกว่าคน ซึ่งทาง สพฐ. ได้กำชับเขตพื้นที่ให้ตรวจสอบหาเด็กทั้งหมดนี้ให้เจอว่าหลุดไปอยู่ที่ไหนบ้างและดำเนินการจัดระบบการค้นหา หรือหากพบแล้วเด็กไม่สะดวกกลับมาเรียน เราก็จะพาการศึกษาไปหาเด็กเองในพื้นที่ที่เด็กอยู่

 

"ซึ่งแต่เดิมเราทำเรื่อง “พาน้องกลับมาเรียน” ต่อไปก็อาจเพิ่มเติมเรื่อง “พาการศึกษาไปหาน้อง” ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้กำชับว่านโยบาย “Thailand Zero dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ต้องทำกันอย่างจริงจัง โดยมีการอัพเดตข้อมูลเป็นรายสัปดาห์ด้วย"

 

เรื่องสุดท้าย คือ เรื่องการเสนอเกณฑ์การย้ายครู-บรรจุครู โดยปัจจุบันเราไม่ได้มีการทำสถิติระหว่างครูที่โอนย้ายกับครูที่สอบขึ้นบัญชี ทำให้บางเขตพื้นที่มีการรับย้ายเต็ม 100% ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่สอบขึ้นบัญชีขาดโอกาสที่จะได้บรรจุ ซึ่งจะมีการหารือกันว่าทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ระหว่างการโอนย้ายครูที่มีอยู่แล้วกับเด็กที่เพิ่งจบใหม่ให้ได้มีโอกาสบรรจุเข้ารับราชการครู

 

นี่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ได้มีการหารือกันในวันนี้ ซึ่งหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว ทาง สพฐ. จะแจ้งให้ทราบต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว