การประชุมนานาชาติ didacta asia 2024 congress ชี้ ผู้สอนและร.ร.ภูมิภาคอาเซียน มีข้อจำกัดการใช้งานเทคโนโลยี

 

การประชุมนานาชาติ didacta asia 2024 congress ชี้ ผู้สอนและร.ร.ภูมิภาคอาเซียน มีข้อจำกัดการใช้งานเทคโนโลยี

 

จากงานนิทรรศการสื่อการศึกษาและการประชุมนานาชาติ “didacta asia 2024” และ งาน “didacta asia congress” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 เพื่อแลกเปลี่ยน นโยบาย องค์ความรู้ และส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษา ในหัวข้อ “นโยบายการศึกษาเท่าเทียมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” 

 

โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southest Asian Ministers of Education Organization -SEAMEO Secretariat) ร่วมเป็นผู้จัดการประชุม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา

 

ภายใต้แนวคิด Shaping the Future Skills มุ่งเน้นแนวคิด สร้างทักษะเพื่ออนาคต ด้วยการเน้นใช้เทคโนโลยีมายกระดับการเรียนการสอน และพัฒนาการเรียนรู้ในทุกระดับการศึกษา ผสานกับการเรียนการสอนยุคใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพของการศึกษาในภูมิภาค

 

ไฮไลท์สำคัญในการประชุม คือ เวทีเสวนาระดับรัฐมนตรี ในหัวข้อ นโยบายการศึกษาเท่าเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรรยายโดย Datuk Dr. Habibah binti Abdul Rahim ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) H.E Mr Nos Sles รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา กัมพูชา และ รศ.ดร. รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการอุดมศึกษา

 

สรุปข้อสังเกตจากวิทยากรได้ ดังนี้

 

วิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในระดับสูง สังเกตจากการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (จาก 16% ในปี 2014 สู่ 24% ในปี 2024 ) การบูรณาการสื่อดิจิทัลในห้องเรียน และปัจจัยอื่น ๆ

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เกิดขึ้น ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเปลี่ยนแปลงในภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีขนาดใหญ่ (เช่น อินโดนีเซีย) สืบเนื่องจากภูมิประเทศที่่ไม่เอื้อต่อการวางระบบพื้นฐาน จึงทำให้นักเรียน ผู้เรียนในบางพื้นที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงห้องเรียนออนไลน์ หรือ สื่อการเรียนรู้บนโลกอินเทอร์เน็ต

 

ดังนั้น ประเทศภายในภูมิภาคอาเซียน ควรร่วมมือกันสร้างความร่วมมือภายใต้งานวิจัยในประเด็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลที่มีต่อการเรียนการสอน และ ระบบการศึกษา โดยปัจจุบันพบว่า ยังมีงานวิจัยจำนวนจำกัด

 

ทั้งนี้พบว่า อุปสรรคปัญหาในการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีในภาคการศึกษา เกิดจากการที่ผู้สอนและโรงเรียนขาดแรงสนับสนุนและโอกาสการเรียนรู้จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

จึงควรมีการนำประเด็นนี้ สอดแทรกในการจัดทำนโยบายพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในอนาคต หากได้รับการส่งเสริมและอุปกรณ์ที่มีคุณภาพตลอดการเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ในโลกดิจิทัลในอย่างเต็มที่ เช่น โครงการ Learning Community for Teacher ในประเทศมาเลเซีย

 

สถาบันอุดมศึกษา  ต้องมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้มีการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการดำเนินงานตามพันธกิจด้านอื่น ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ที่จะช่วยให้สถาบันอุดมศึกษามีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเป็นกลไกและรากฐานสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสเพิ่มความเท่าเทียมทางด้านการศึกษาของประเทศ

 

งานนี้ สภาการศึกษา มี ดร.ศศิรัศม์ วีระไวทยะ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ  นางโชติกา วรรณบุรี รักษาการผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา และข้าราชการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ สำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และสำนักนโยบายและแผนการศึกษา เข้าร่วมพิธีเปิดงาน