หยิกแก้มหยอก ประจำวันที่ 18-24 พฤศจิกายน 2562

โดย “สิงห์ ราชดำเนิน”

“หยิกแก้มหยอก” โดย “สิงห์ ราชดำเนิน” ผ่าน “สยามเอ็ดดูนิว” มาพบกันอีกครั้ง หลังสะสางงานหลักเสร็จสิ้น พบกันหนนี้สถานะการณ์เส้นทางการศึกษา ตกอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ต้องปรับตัวทั้งวิถีงาน วิถีคน หลังโครงสร้างองค์กรทางการศึกษาที่เคยคุ้นชินกันมา หายไปเป็นองค์กรใหม่ที่ดูแล้วอุ้ยอ้าย ทับซ้อนมากขึ้น...มี Action Plan มากมาย   

..กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เริ่มนับหนึ่ง มาตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หายไป ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คนแรก จะต้องพิสูจน์ฝีมือในการยกเครื่องมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่  เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างสมบูรณ์... 

..นี่ไง ผลงานระดับชาติ ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ประกาศให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เลิกใช้ 4 พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถุงหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดและแก้วพลาสติก วางกรอบนโยบายการบริหารจัดการด้วยโรดแมพการจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ. 2561-2573  สำทับกันแบบจริงจังถึงการจะบรรลุความท้าทาย Zero waste Thailand ให้สำเร็จ จำเป็นต้องขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการเป็นต้นแบบที่ดี...หวังว่าไม่แค่ราคาคุย

..เรียกประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ 76 จังหวัดทำแผนพัฒนาสู่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” ทั้งพืชสัตว์เศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ลั่นเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่ ต้องไม่มีของเหลือทิ้ง พร้อมทุ่ม 500 ล้านนำนักศึกษาลงไปช่วยเกษตรกรตัวจริง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ขอให้สภาเกษตรร่วมกันวางแผนบูรณาการการเกษตรกับ อว.ที่จะนำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยสู่ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ สะกิดแล้วอย่าลืมคุยกับ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ที่มี สถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง สังกัด สอศ. จำนวน 51 แห่ง ในประเทศด้วยล่ะ 

..คนมีกะตังค์ทำอะไรก็ดูดีลื่นไหลไปซะทุกอย่าง ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาอย่างราชภัฏ ราชมงคล กำลังคิดหนักกับปัญหาต้องการคนเข้าไปเรียน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวโครงการนำร่องหลักสูตรที่เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่ทันสมัยมีเนื้อหากระชับเข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาพร้อมกับการฝึกปฏิบัติและการทดสอบ รวมถึงกิจกรรมเสริมหลักสูตรอื่นๆ เมื่อเรียนจบชุดวิชา 

..หลักสูตรในโครงการฯนี้ไม่ได้ทำคนเดียว ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดโครงการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน ผู้เรียนที่สอบผ่านเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากโครงการ CHULA MOOC Achieve เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถตามลำดับผลการเรียน ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ คาดหวังว่าจะมีผู้สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน…เจ๋งง่ะ

..ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างสร้างดาวกันคนละดวง จะไม่คุยกันก่อนรึไง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ไปแบบไม่สนใจใคร ในเมื่อ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ดูแล กำลังขับเคลื่อนกำลังคนด้านในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง ให้เป็นผู้นำด้านการเกษตร ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นด้วย การจัดการเรียนการสอนด้านเกษตร เทคโนโลยี และประมง คือ โค้ดดิ้ง (Coding) 

..โค้ดดิ้ง (Coding) มันคืออันหยัง คนที่จะเข้าใจและอธิบายได้ดีคงต้องเป็น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เจ้าของคำๆ นี้ อธิบายขยายความไว้ว่า เป็นภาษาแห่งอนาคตในศตวรรษที่21 “ง่ายกว่าที่คิด พิชิตยุคดิจิทัล”, นโยบายอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อพัฒนาและทบทวนทักษะการทำงาน มุ่งเน้น “การสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต” ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม, การให้ความสำคัญกับการอ่าน การเขียน เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ด้วยการสื่อสารร่วมสมัย ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายจิตอาสา...เล่นเอามึนมิใช่น้อย  

..จับมาที่ แนวคิดว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ปัจจุบันทั่วประเทศมีเพียง 42 แห่ง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. กำลังชั่งน้ำหนักโดยถามออกไปดังๆ ผ่าน อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในทำนองเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีให้ครบทั้ง 77 จังหวัด แถมยังแทงกั๊กไว้แบบชี้โพรงให้กระรอกได้ไปหาทางไปต่อได้กับการเพิ่ม สพม.อาจไม่ต้องครบแต่อาจจะมากกว่า 42 จังหวัด...แค่นี้ได้ใจกันเกินร้อยแล้ว 

..คงต้องจับไปที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งคำถามน่าคิด ทั้งๆ ที่จำนวนนักเรียนลดลง แถมยังดำเนินการควบรวมโรงเรียนอีกกว่า 15,000 แห่ง เหตุใดจะเพิ่ม สพม.ให้ครบ 77 จังหวัด ขณะเดียวกันโครงสร้างกรทรวงศึกษาธิการก็เล็กลง แต่ทำไมกลับคิดเพิ่ม สพม.มากขึ้น ถือเป็นอะไรที่ย้อนแย้งในวิธีคิดอย่างยิ่ง เมื่อคิดไปถึงผลทางการเมืองที่รัฐบาลได้ เรียกได้ว่าสุดคุ้ม

..ดูแนวโน้มก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ขอทำเป็นเหนียมกันนิดหน่อย กับการแต่งตั้งให้ วราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาค ไปประชุมวางแผนวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงดูผลกระทบข้อดีข้อเสียของการมีศึกษาธิการในภูมิภาค และการทำงานการศึกษาในบริบทต่าง ยกอ้างเพื่อประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและไม่สิ้นเปลืองงบ โถจะใส่ห้อยท้ายมาทำไม

..มาอีกแล้วกับการแต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ มี 32 คน ประกอบด้วย วราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ. เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ณรงค์ ดูดิง และ ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. เป็นที่ปรึกษา, ปลัด ศธ. เป็นประธาน ตามด้วย ปลัดศธ. ,เลขาธิการ แท่งต่าง ๆในศธ., ผอ.สำนักฯ, โดยการปรับโครงสร้าง ศธ.ทั้งหมดนี้ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาบรรลุตามเป้าหมาย...ฮิ่ว กว้างดี

..ยินดีย้อนหลังกับ ประเสริฐ บุญเรือง เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ , อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 

..อยู่ที่ไหนเพื่อนครูอุ่นใจทั่วกัน ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ถือเป็นธุระแบบไม่รอช้า เมื่อ ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ขอให้การช่วยเหลือ 3 ปัญหาของการบริหารโรงเรียนเอกชน เจ้าตัวขานรับในบัดดล ได้ใจกันไปเต็มๆ 

..ยังเข้มเหมือนเดิม ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงและผู้บริหารโรงเรียนเครือข่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู พัฒนาและหล่อหลอมความเป็นครูผ่านการเรียนรู้บริบทจริงในสถานที่จริง หวังสร้างทักษะการทำงานให้เกิดขึ้นกับนักศึกษาก่อนที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นครูอย่างเต็มตัว และหล่อหลอมความเป็นครูให้กับนักศึกษาคณะครุศาสตร์

..สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่จะเปิดรับในปีการศึกษา 2563 ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ จันทรศิริ ผอ.สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ม.ราชภัฏมหาสารคาม จัดประชุมแนะแนวการศึกษาต่อประจำปี มีอาจารย์แนะแนว คณะครูของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย จ.มหาสารคาม, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เข้าร่วมกว่า 300 คน 

..ดร.วิชัย ปิยวรรณวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี แสดงความยินดีกับ วิทยา ยาม่วง เพื่อนร่วมรุ่นนักศึกษาหลักสูตรบริหารการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมภาครัฐร่วมเอกชน (บรอ.รุ่นที่ 3) ในโอกาสได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมเจ้าท่า ณ ห้องรับรองกรมเจ้าท่า เมื่อสองวันก่อน

...พบกับ สิงห์ ราชดำเนิน สัปดาห์หน้าครับ...