“ม.วลัยลักษณ์” จัดงานฉลองครบรอบ 27 ปี ถึง 3 เม.ย.นี้ โชว์ Smart University

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสครบปีที่ 27 แห่งสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (วันที่ 29 มีนาคม 2562) มหาวิทยาลัยได้จัดงาน “วลัยลักษณ์เดย์” ขึ้น ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-3เมษายน 2562 เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เห็นพัฒนาการความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย

ทั้งด้านคุณภาพการศึกษา เพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ และความเป็นนานาชาติ รวมไปถึงการพัฒนาทางด้านงานวิจัย โดยมีเป้าหมายจะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบชั้นนำของประเทศ การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเรียนการสอนและเสริมสร้างบรรยากาศความเป็นนานาชาติด้วย

โดยในวันที่ 29 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย ตอนเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งเพื่อความเป็นสิริมงคล, การปาฐกถาพิเศษโดยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประสบการณ์การบริหารอุดมศึกษากับมุมมองความท้าทายในปัจจุบัน” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

และพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี 2561, พิธีมอบโล่รางวัลบุคลกรที่มีผลงานดีเด่นด้านการวิจัย บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวเสริมว่า การจัดงาน “วลัยลักษณ์เดย์” ปีนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยระดับชาติคือ วลัยลักษณ์วิจัย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และปีนี้เป็นปีแรกที่จัดให้มีการประชุมทางวิชาการในระดับนานาชาติในหัวข้อการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และผลกระทบ (The Fourth Industrial Revolution and its Impacts)

นอกจากนี้ ยังมี “วลัยลักษณ์เกษตรแฟร์” ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น นิทรรศการแสดงความก้าวหน้าทางวิชาการของสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร การแสดงผลงานวิจัยของศูนย์วิจัย หน่วยวิจัย การสัมมนาวิชาการทางการเกษตร การจัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตรของหน่วยงานภาคการเกษตรในจังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังเปิดโอกาสให้เกษตรกร  Smart Farmer หรือวิสาหกิจชุมชนได้นำผลงานมาจัดแสดงและจัดจำหน่ายด้วย  

รวมทั้งยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น มหกรรมสินค้าชุมชนมหกรรมกีฬา สินค้าทางการเกษตร การประกวดขับร้องเพลงลูกทุ่งชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 6 การแสดงดนตรี-ศิลปวัฒนธรรม เยี่ยมชมสวนวลัยลักษณ์ ชมการแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดัง

ด้าน ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม กล่าวเพิ่มว่า กิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญของงาน “วลัยลักษณ์เดย์” คือ การประชุมทางวิชาการ โดยนอกจากวลัยลักษณ์วิจัย ซึ่งเป็นการประชุมทางวิชาการระดับชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้ว ปีนี้ยังได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ในหัวข้อการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และผลกระทบ (The Fourth Industrial Revolution and its Impacts)  

เป็นการนำเสนอประเด็นผลกระทบจากการปฎิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0 ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สังคม การศึกษา โดยเชิญนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมบรรยาย นำโดย ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ตลอดจนยังมีนักวิจัยจาก 12 ประเทศ มานำเสนอผลงานวิจัยกว่า 180 เรื่อง

ส่วนวลัยลักษณ์วิจัย ปีนี้มีผลงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไทย เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล มานำเสนอ 240 ผลงาน ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เช่น งานวิจัยยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหาร ผลไม้ซึ่งเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรของภาคใต้ ส่วนภาคเอกชน เช่น เบทาโกร นำเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการเกษตรมาจัดแสดง

มีกิจกรรมนำชมธนาคารปูม้า ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับภาคีเครือข่าย เพื่อรณรงค์และอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า โดยให้ความรู้แก่ชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าไม่ให้หายไปจากทะเลไทย เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปูม้ามีอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนโดยไม่ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

“งานวิจัยและให้บริการวิชาการแก่สังคมเป็นภารกิจที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเป้าหมายการวิจัยของวลัยลักษณ์มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและภาคธุรกิจโดยเฉพาะในเขตภาคใต้ตอนบน และเน้นงานวิจัยเชิงประยุกต์ที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ ส่วนวิจัยพื้นฐานจะเน้นงานวิจัยระดับสูงร่วมกับนักวิจัยชั้นนำในระดับประเทศและต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการและชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย” ศ.น.สพ.ดร.อภินันท์กล่าว