ม.มหิดลจับมือ! มจธ. วิจัยพัฒนาวัสดุการแพทย์


มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ด้านวิชาการและวิจัยพัฒนาวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ที่จะช่วยกันสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์ของไทยอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของงานวิจัยวิทยาศาสตร์

ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของวงการแพทย์ไทยในระดับสากล และส่งผลต่อการมีสุขภาพดีของคนภายในประเทศต่อไป

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่จะทำให้องค์ความรู้และผลงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ ขยายผลออกไปในวงกว้าง รวมถึงร่วมมือวิจัยและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ

“ผลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่องานสาธารณสุขของประเทศ ดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จสู่สาธารณสุข ๔.๐ ตามยุทธศาสตร์ชาติ และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้โดยสำเร็จ สมบูรณ์ อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นความร่วมมือในการทำงานวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจน ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ที่มีความเข้มแข็งทั้งคู่

เรามองเห็นปัญหาเดียวกัน และทราบว่าการวิจัยเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์ใช้เองนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจทำให้สำเร็จในวันนี้ ก็จะไม่สามารถเกิดการแข่งขันได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากงานวิจัยนี้ก็คือประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่ยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ในเรื่องของการรักษาพยาบาล

“ผมมั่นใจว่าการร่วมมือในครั้งนี้ เราจะได้ใช้ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของเราในเรื่องของวัสดุฉลาด นำมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบพัฒนาอุปกรณ์สายสวน”

โดยตอนนี้เริ่มจากขดลวดค้ำยันสำหรับลากลิ่มเลือดให้กับผู้ป่วยโรคสมองที่มีจำนวนมากในประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการออกแบบให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ มีความน่าเชื่อถือ มีราคาถูก ผลักดันให้ภาครัฐฯ สามารถเบิกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้ และถ้าทำสำเร็จ ก็จะเห็นสิ่งที่ตามมาอีก

เพราะเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถประยุกต์ใช้ได้กับอุปกรณ์รักษาชนิดสายสวนหลายๆประเภท ซึ่งปัจจุบันที่ทำอยู่นั้นก็มีอย่างเช่น อุปกรณ์อุดรอยรั่วหัวใจสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจรั่ว อุปกรณ์เจาะผนังหัวใจสำหรับผู้ป่วยโรคความดันหัวใจ อุปกรณ์ถ่างค้ำยันหลอดอาหารสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งหลอดอาหาร อุปกรณ์รักษาโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ที่กล่าวมานั้น ไม่มีการผลิตในประเทศไทย และมีราคาแพง งานวิจัยครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญกับประเทศชาติมาก และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราทำงานวิจัยนี้ได้ คือความตั้งใจอย่างเข้มแข็งของทั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมวิศวกร ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ท้าทายของประเทศไทยมาก

รศ.ดร.อนรรฆกล่าวด้วยว่า จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยสุขภาพของพสกนิกรในพระองค์ไว้ว่า “ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถ พัฒนาชาติได้ เพราะประชากรเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในเคลื่อนประเทศไทย”

ดังนั้น ทางทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล คาดหวังว่าความร่วมมือระหว่างสองสถาบันจะช่วยสร้างสรรค์ผลงานในเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองและเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย นำไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพวกเราทุกๆคน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อหน่วยงานการสื่อสารองค์กรและงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โทร.0-2470-8415-6, คุณโสภิณ ลิ้มวิไลกุล (พอลล่า) โทร.083-189-8886, คุณกรรณิการ์ ส่องจ้า (แจน) โทร.084-071-6688