“ก.วิทย์”เดินหน้านโยบาย!วิทย์เสริมแกร่ง ช่วยลดต้นทุนสหกรณ์นิคมท่าแซะ


ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพรและสุราษฎร์ธานี) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมสหกรณ์นิคมท่าแซะ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2561 จำนวนรวม 4 โครงการ

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์กล่าวว่า กระทรวงวิทย์ฯมีนโยบาย “วิทย์เสริมแกร่ง” นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สนับสนุนบูรณาการผู้ประกอบการ บ่มเพาะผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การพัฒนาทักษะและงานใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจการบริหารจัดการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก

สำหรับการเยี่ยมชมสหกรณ์นิคมท่าแซะ จังหวัดชุมพรครั้งนี้ สวทช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทย์ฯ ได้นำ วทน.มาปรับปรุงออกแบบเครื่องจักร และซอฟต์แวร์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต พร้อมพัฒนาเทคนิคให้กับห้องปฏิบัติการเพื่อควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ แก้ปัญหาของกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม ลดการสูญเสีย และเพิ่มรายได้ให้กับสหกรณ์ฯ และเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน สร้างความมั่นคั่งอย่างยั่งยืนตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

ด้าน ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ITAP หรือโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงาน สวทช. ทำหน้าที่สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่พบจริงในการผลิต

โดย ITAP ทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายวิจัยพัฒนาให้กับผู้ประกอบการ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ ปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

ทำให้ SME มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยกลไกการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับความต้องการของ SME ที่ผ่านมา ITAP ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ และตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย ไม่น้อยกว่า 1,300 ราย และสนับสนุนการทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้ SME เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมมาแล้ว มากกว่า 6,000 โครงการ

สำหรับกรณีสหกรณ์นิคมท่าแซะนี้ มีปัญหาด้านการควบคุมกระบวนการผลิตตลอดกระบวนการ ทำให้เกิดการสูญเสีย และการผลิตมีประสิทธิภาพต่ำ โดยเฉพาะขั้นตอนการกระเทาะเมล็ดปาล์ม ที่ต้องสูญเสียเมล็ดปาล์มเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น อีกทั้งในกระบวนการกรองแยกน้ำมันปาล์มดิบจะมีกากตะกอนติดไปกับน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบการผลิตก๊าซชีวภาพมากเกินไป ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตก๊าซชีวภาพลดลง

ขณะเดียวกันสหกรณ์ฯยังเผชิญปัญหากับข้อจำกัดเรื่องการกดราคา และการตัดราคาสินค้า เนื่องจากการควบคุมคุณภาพและห้องปฏิบัติการไม่ได้มาตรฐาน ทำให้การตรวจสอบคุณภาพน้ำมันไม่ถูกต้อง

ดร.ฐิตาภากล่าวต่อว่า ความช่วยเหลือจาก ITAP สวทช. คือจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านเทคนิควิศวกรรมเพื่อพัฒนาเทคนิคการสกัดเมล็ดในปาล์ม ออกแบบวางผังและปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อลดการสูญเสียในกระบวนการแยกเส้นใยและกะเทาะเมล็ดปาล์ม ช่วยในการกรองแยกน้ำมัน และลดปริมาณกากตะกอนในน้ำเสีย

“รวมถึงได้ปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องมือวัด และพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบห้องปฏิบัติการ ทำให้สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำมันได้อย่างถูกต้อง ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ตามแผน และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม 2561”

ขณะที่ นายสรายุธ สุวรรณพหู ประธานกรรมการสหกรณ์นิคมท่าแซะ กล่าวว่า สหกรณ์นิคมท่าแซะ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 ตั้งอยู่หมู่ที่ 13 ตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดชุมพร ประมาณ 40 กิโลเมตร

“โดยสหกรณ์ฯส่งเสริมให้สมาชิกปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 90% ของสมาชิกทั้งหมด ร่วมมือกันส่งผลผลิตปาล์มน้ำมันจำหน่ายให้กับสหกรณ์ สร้างอำนาจในการต่อรองด้านการตลาด และร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรค จากการจัดการสวนปาล์ม การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป และการตลาด ซึ่งสหกรณ์ฯ มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของปาล์มน้ำมัน ทำให้สมาชิกมีความกินดี อยู่ดี พึ่งพาตนเองได้ และมีสันติสุข”