เจ้าหญิงนักประวัติศาสตร์...เยือนเมืองเก่าสงขลา


คุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พร้อมด้วยคณะข้าราชการกรมศิลปากร และสมาชิกสมาคมอิโคโมสไทย เดินทางเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่เมืองเก่าสงขลาบ่อยาง สงขลาหัวเขาแดง สงขลาแหลมสน และเกาะยอ ซึ่งมีศิลปะสถาปัตยกรรมอันเป็นที่ตั้งชุมชนของชาวสงขลา ที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และเชื้อสายจีนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เมื่อวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

โดยเยี่ยมชมจิตรกรรมฝาผนัง พระประธาน สถาปัตยกรรม พระอุโบสถ โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดมัชฌิมาวาส และมัสยิดอุสาสนอิสลาม รวมทั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ศาลเจ้าพ่อกวนอู และร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่เมืองเก่าสงขลาบ่อยาง อ.เมือง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนร่วมต้อนรับ

ในการนี้ อาจารย์วสิน ทับวงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์และการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานฯ ให้ทำหน้าที่บรรยายเกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อกวนอู เมืองสงขลา เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ตลอดจนความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวสงขลาบ่อยาง

อาจารย์วสินกล่าวว่า ศาลเจ้าพ่อกวนอูเชื่อมโยงความเชื่อของคนจีน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีอยู่มากในเมืองสงขลาตั้งแต่ยุคสงขลาแหลมสน (ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ธนบุรี ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 3) ฝั่งสิงหนคร จนย้ายศูนย์กลางข้ามฟากทะเลสาบสงขลา มาอยู่ที่ฝั่งสงขลาบ่อยาง (รัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2385 / ค.ศ. 1842) และเจ้าเมืองสงขลาทั้งสองยุคที่เป็นต้นตระกูล ณ สงขลา เป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งภูมิหลังของชาวจีนฮกเกี้ยนเป็นกลุ่มคนจีนที่ทำการค้าและแล่นเรือสำเภาสินค้ารอนแรมไปมายังบ้านเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้อนหลังได้ถึงพันปี

เจ้าพ่อกวนอูโดดเด่นด้านความซื่อสัตย์ ตรงกับคุณธรรมที่บรรดาพ่อค้าวาณิชจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ยึดถือ นอกจากผู้ทำการค้าจะต้องมีคุณธรรมความซื่อสัตย์เป็นแกนแล้ว ผู้ค้าเองก็ต้องการลูกค้าที่ซื่อสัตย์

“และในเวลาต่อมาลูกหลานจีนส่วนหนึ่งสานต่อการดำเนินธุรกิจจากบรรพบุรุษ อีกส่วนหนึ่งรับราชการ คุณธรรมความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานเป็นสิ่งจำเป็น และผู้ที่จะเจริญเติบโตในราชการได้จำเป็นจะต้องเป็นคนดีซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น ผู้ที่จะสอบเข้ารับราชการ หรือผู้ที่มีลูกหลานรับราชการจึงนิยมมากราบไหว้ขอพรจากเจ้าพ่อกวนอูที่ศาลแห่งนี้ ควบคู่กับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา” อาจารย์วสิน กล่าว

ในโอกาสเดียวกันนี้ อาจารย์สุดารัตน์ วงศ์กระจ่าง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาจีน โปรแกรมวิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานฯ ให้เป็นผู้อ่านและแปลภาษิตคำสอนจีนที่ปรากฏอยู่ในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

ควบคู่กับการอธิบายข้อมูลทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมความเชื่อ ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา โดย ผศ.ศรุตม์ เพชรสกุลวงศ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พร้อมด้วยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ รวมถึงคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา ตลอดจนภาคเอกชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคม ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

อาจารย์วสินกล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกภาคส่วนร่วมกันทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นในสถานที่สำคัญ โบราณสถานในเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง สิงหนคร และเกาะยอ 

“นับเป็นการประสานความร่วมมือของนักวิชาการจากภาคสถาบันอุดมศึกษาใน จ.สงขลา กับการทำนุบำรุงและส่งเสริมการพัฒนาอรรถประโยชน์จากศิลปวัฒนธรรมของเมืองสงขลา ในมิติการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตามเป้าหมายและแผนแม่บทสงขลาสู่เมืองมรดกโลก"