เปิดศูนย์ประสานการผลิต-พัฒนากำลังคนอาชีวะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) พร้อมมอบนโยบายและข้อเสนอแนะในการพัฒนาศูนย์ประสานงาน เมื่อเร็วๆ นี้

พล.อ.สุทัศน์กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (EEC) ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SEC) และศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคกลาง (CEC) ที่ได้เปิดไปแล้วเป็นต้นแบบให้กับศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อตอบสนองภาคการผลิตอุตสาหกรรมและบริการที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโมเดลประเทศไทย 4.0

ประกอบกับการขับเคลื่อน มีแนวคิดในการคิดวิเคราะห์ สภาพปัญหา ความต้องการของสถานประกอบการ การวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อให้เป็นการจัดการอาชีวศึกษาแบบมีส่วนร่วม ใช้กลไกมาตรฐานอาชีพ เพื่อกำกับคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นสาระที่จำเป็นของช่างอุตสาหกรรม

ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำยุทธศาสตร์และจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา

ทั้งนี้ สอศ.ได้ดำเนินการขับเคลื่อน และได้มีการประกาศจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาทั่วทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SEC) และศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคกลาง (CEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล             

พล.อ.สุทัศน์กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (NEEC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) กำหนดให้จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นศูนย์หลักในการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลระดับภาค คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 5 ศูนย์ คือ ศูนย์ประสานงานฯ จังหวัดอุดรธานี ศูนย์ประสานงานฯ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ประสานงานฯ จังหวัดร้อยเอ็ด ศูนย์ประสานงานจังหวัดนครราชสีมา และศูนย์ประสานงานจังหวัดอุบลราชธานี

มีการแบ่งโครงสร้างการบริหารงานศูนย์ประสานงานฯ ออกเป็น 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายข้อมูลกลาง ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา รวมทั้ง มีการพบผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา เพื่อทำความเข้าใจ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา จบแล้วมีงานทำ”

การดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (NEEC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ทั้งจากสถานประกอบการที่ร่วมจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี สถานประกอบการที่ร่วมจัดฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นฐานสมรรถนะ สถานประกอบการที่ร่วมจัดฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา หน่วยงานทวิภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“สอศ.เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพเพื่อป้อนสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ได้ดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล คือ การส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ทำให้ผู้เรียนมีเป้าหมายในการเรียน มีแรงบันดาลใจและค้นพบเป้าหมายในการดำเนินชีวิต” พลเอกสุทัศน์กล่าว