สอศ.จัดพิธีเปิดหลักสูตร ปวส.ต่อเนื่อง 5 ปี มาตรฐานโคเซ็น มุ่งผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่


ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวในโอกาสพิธีเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐานโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า สอศ.ได้ร่วมกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น (National Institute of Technology-NIT) เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐานโคเซ็น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

เป็นหลักสูตรภายใต้โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับภาคอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการปฏิรูปการศึกษาไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยในปีการศึกษา 2561 นี้ สอศ.ได้เปิดรับสมัครนักเรียนหลักสูตรตามมาตรฐานโคเซ็น 2 สาขาวิชา คือ 1. สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สาขางานหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม) จำนวน 20 คน ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และ 2.สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ (สาขางานเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์) จำนวน 20 คน ดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

โดยมีเกณฑ์การสอบคัดเลือกนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐานโคเซ็น และได้เปิดสอบไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนให้ความสนใจ และสมัครเข้าสอบคัดเลือกจำนวนมาก

ซึ่งในการสอบคัดเลือกแบ่งเป็นการสอบข้อเขียน ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น และการสอบสัมภาษณ์ ดำเนินการโดยผู้บริหารและครูในสถานศึกษานำร่อง โดยผลการสอบออกมาเป็นที่น่าพอใจ มีผู้สอบผ่านความรู้ความสามารถที่ตรงกับคุณสมบัติของสถาบัน KOSEN และได้จำนวนนักเรียนครบตามเป้าหมาย

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า จากการลงนามความร่วมมือระหว่าง สอศ.กับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนช่วยเหลือ และสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เช่น การแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากร นักเรียน นักศึกษา และงานศึกษาวิจัย จึงเกิดการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐานโคเซ็น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ช่วงที่ผ่านมา สอศ.ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอน อาทิ การอบรมพัฒนาครูตามมาตรฐานโคเซ็น การสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อจัดการเรียนการสอนแบบ WIL (Work Integrated Learning ) ที่มีความเข้มข้น และการจัดเตรียมครุภัณฑ์พื้นฐานให้สอดคล้องกับหลักสูตร โดยมี Dr. Matsumoto Tsutomo ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-ญี่ปุ่น โคเซ็น (Japanese-Thai KOSEN Institute of Engineering and Technology) เป็นผู้ให้คำแนะนำ 

“จะเห็นได้ว่า สอศ.มีความพร้อมอย่างยิ่ง ในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐานโคเซ็น โดยในปีการศึกษา 2561 จะเป็นการเริ่มต้นการเรียนการสอน และ สอศ.ตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะผลิตช่างฝีมือคุณภาพให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะ ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และพร้อมผลิตช่างฝีมือที่มีสมรรถนะสูงให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป” เลขาธิการ กอศ.กล่าว