สอศ.จับมือ!จีน สตาร์ทหลักสูตรอาชีวะพรีเมี่ยม“ระบบราง”

         

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น (Wuhun Railway Vocational of Technology) สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดย นายเฉิง ซื่อชิง อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาหลักสูตรระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาพรีเมี่ยมอาชีวะ ตามโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษา เมื่อร็วๆ นี้

จะเริ่มนำร่องใน 4 สถานศึกษา ประกอบด้วย วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ จ. ขอนแก่น, วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม จ.มหาสารคาม, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี  และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ซึ่งจะเริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2561

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอาชีวศึกษา สาขาวิชาที่เชื่อมโยงกับ Growth Engine และ S-curve , New S-curve  ซึ่งจะพยายามแสวงหาความร่วมมือ และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ได้คุณภาพมาตรฐานสากล 

สอศ.ซึ่งได้รับมอบหมายให้เดินหน้าการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐ หรืออาชีวะพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาจะได้รับวุฒิทวิวุฒิ หรือ 2 วุฒิ จาก 2 ประเทศ คือจากประเทศไทย และจากประเทศจีน

โดยความร่วมมือของหลักสูตรจะต้องยืนยันว่ามีกระบวนการเรียนการสอนที่ผู้เรียนมีแนวคิดพัฒนาต่อยอดไปได้  เรียนจบแล้วสามารถทำงานได้จริง และมีทักษะการปฏิบัติแบบมืออาชีพ ตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศ   

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง สอศ.กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาหวู่ฮั่น ที่จะดำเนินการคือการร่วมพัฒนาหลักสูตรระบบขนส่งทางราง ในการจัดการเรียนการสอน 3 สาขา ได้แก่ 1.ระบบราง 2.อาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และ 3.ช่างซ่อมตู้รถไฟ พร้อมทั้งการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนครูระหว่างกันในการสอนและการวิจัย หรือการฝึกอบรมในระยะสั้นและระยะยาว

รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาระหว่างกัน การฝึกอบรมบุคลากรที่ขาดแคลน และการสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องของการจัดทำหลักสูตร และโครงสร้างสาขาวิชาใหม่ มีการพัฒนาความร่วมมือในการจัดการศึกษา ตลอดจนการวิจัยร่วมกันในด้านการศึกษา การสร้างนวัตกรรมใหม่ และสถานศึกษาจะสามารถผลิตกำลังคนที่เข้มแข็ง และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทย

จึงนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เจริญรุดหน้า เป็นการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรม

“ซึ่งสาขาระบบขนส่งทางราง เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญที่เป็นเป้าหมายที่จะต้องเร่งผลิตและพัฒนาบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีและแลกเปลี่ยนความรู้แนวคิดในด้านศิลปวัฒนธรรม สังคม และภาษา ของทั้งสองประเทศ” ดร.สุเทพกล่าว