สนข.ผนึก!วสท. ร่วมมือพัฒนามาตรฐานระบบรางไทย ก้าวสู่ฮับอาเซียน


สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยแผนการลงทุนของประเทศไทยในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางปี ค.ศ.2018-2040 รวม 23 โครงการ มูลค่ากว่า 2.5 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนามาตรฐานระบบรางและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศตั้งแต่วันนี้

ผ่านการต่อยอดมาตรฐานระบบรางอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเชื่อมระบบคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ ขณะที่โครงการลงทุนระบบรางหลายรูปแบบกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพและเมืองต่างๆ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีมาตรฐานของประเทศ   

สนข.และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมระบบขนส่ง เพื่อสร้างมาตรฐานระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพราะไทยมีศักยภาพเพียงพอที่ก้าวสู่การเป็น Hub ระบบรางของอาเซียนได้

นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯจะเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา ASEAN Rail Standardization ครั้งที่ 2 ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 อีกด้วย 

ทั้งนี้ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงโครงการศึกษาและจัดทำคู่มือการออกแบบ ก่อสร้างและบำรุงรักษางานโครงสร้างทางรถไฟ และมาตรฐานโครงสร้างทางรถไฟว่า สืบเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง

โดยเฉพาะการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งทางราง เพื่อให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน จึงได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางรางคิดเป็นมูลค่ามหาศาล

ปัจจุบันระบบขนส่งทางรางของประเทศยังขาดมาตรฐาน และหลักการออกแบบ การก่อสร้างและการบำรุงรักษาโครงสร้างทางรถไฟที่เหมาะสมต่อการใช้งานและ/หรือการปฏิบัติ ส่งผลทำให้โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศต้องอ้างอิงมาตรฐานจากต่างประเทศ ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันในแต่ละโครงการ

ขาดความเป็นเอกภาพของการดำเนินงานออกแบบ ก่อสร้างและบำรุงรักษา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยความท้าทายสำคัญในการยกระดับคุณภาพการให้บริการระบบขนส่งทางรางของประเทศในอนาคต อาทิ ระดับคุณภาพความปลอดภัย คุณภาพการให้บริการ รวมถึงคุณภาพเชิงวิศวกรรมที่ต้องดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการจัดทำมาตรฐานโครงสร้างทางรถไฟ คู่มือการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟ และคู่มือบำรุงรักษาโครงสร้างทางรถไฟ เป็นผลจากการศึกษาเชิงเปรียบเทียบจากการศึกษามาตรฐานของแต่ละประเทศ ที่มีความแตกต่างและลักษณะเฉพาะและการใช้งานของประเทศนั้นๆ พิจารณาร่วมกับมาตรฐานที่ได้ดำเนินการใช้อยู่เดิมในประเทศ

จากผลการศึกษากรอบโครงสร้างมาตรฐานจะอ้างอิงแนวทางมาตรฐานยุโรป (European Norm) เนื่องจากมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้งานทั้งในด้านโครงสร้างมาตรฐานที่มีความชัดเจนและครอบคลุม น่าเชื่อถือ มีการใช้งานมายาวนานภายใต้ขั้นตอนการปรับปรุงให้มีความทันสมัย มีความยืดหยุ่น ไม่ปิดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยี

เน้นการใช้หลักการออกแบบภายใต้พื้นฐานของศักยภาพการใช้งานจริง (Performance Based Design) นำข้อดีของมาตรฐานต่างๆมาใช้อ้างอิงร่วม เพื่อประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมต่อการใช้งานทั้งการออกแบบก่อสร้างและบำรุงรักษา

มาตรฐานโครงสร้างทางรถไฟ แบ่งออกเป็น 10 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานการแบ่งประเภททางรถไฟ, มาตรฐานเขตโครงสร้างทางรถไฟ, มาตรฐานการออกแบบและวางแนวเส้นทาง, มาตรฐานการออกแบบทางรถไฟแบบมีหินโรยทาง, มาตรฐานการออกแบบทางรถไฟแบบไม่มีหินโรยทาง

“มาตรฐานรางเชื่อมยาว, มาตรฐานองค์ประกอบทางรถไฟ, มาตรฐานตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟ, มาตรฐานความปลอดภัยบนทางรถไฟ และมาตรฐานระบบระบายน้ำบนทางรถไฟ” นายชัยวัฒน์กล่าว

ด้าน ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่าถึงบทบาทของ วสท.ในด้านการจัดทำมาตรฐานว่า ตลอดหลายทศวรรษ วสท.ได้มีบทบาทด้านการพัฒนามาตรฐานและข้อกำหนดทางวิศวกรรมที่ใช้ในงานก่อสร้างและแนวทางปฏิบัติงานทางวิศวกรรม และบำรุงรักษาระบบขนส่งทางรางในประเทศไทย

ที่ผ่านมารัฐบาลเห็นความสำคัญ และได้ลงทุนปฏิรูประบบขนส่งทางรางและการเชื่อมต่อเพื่อคุณภาพชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้า 6 โครงการ และ 2 โครงการในต่างจังหวัดที่จะเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สายกรุงเทพ-โคราช และในอนาคตโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น สายกรุงเทพ-พิษณุโลก

ทั้งนี้ การพัฒนายกระดับคุณภาพความปลอดภัยทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังก่อสร้างเสร็จ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท), สำนักงานประกันสังคม จัดฝึกอบรมเรื่อง “คู่มือใหม่ความปลอดภัยในงานก่อสร้างระบบราง” ขึ้น

เพื่อสร้างความตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างและให้วิศวกรผู้ควบคุมงานและแรงงาน และเป็นผู้พัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในหน่วยงานของตนเองได้ในอนาคต

ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือ MOU ในครั้งนี้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบการจัดการศึกษา สายวิชาการ สายวิชาชีพ และฝึกอบรมเพื่อพัฒนาส่งเสริมการทำงานบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่องานวิศวกรรม

สาระสำคัญของความร่วมมือ (MOU) ครอบคลุมประเด็นดังนี้ 1) ความร่วมมือด้านความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) 2) การสนับสนุนวิชาการและวิชาชีพด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวกับงานพัฒนาบุคลากรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ครอบคลุมงานก่อสร้าง งานสิ่งแวดล้อม งานความปลอดภัย และอื่นๆ สร้างมาตรฐานวิชาชีพในการทำงานของบุคลากรด้านงานวิศวกรรมระบบราง

3) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมระหว่างทั้งสององค์กร เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน 4) การสนับสนุนและพัฒนาให้บุคลากรด้านวิศวกรรมระบบรางมีความรู้ความสามารถ โดยจะตั้งคณะกรรมการร่วม หรือ คณะทำงานร่วมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของความร่วมมือ

“การดำเนินกิจกรรม อาทิ การฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ในการพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค, การจัดทำมาตรฐานงานวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมระบบราง ช่วยเหลือและให้ข้อแนะนำด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย” ดร.ธเนศกล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานคณะกรรมการระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของทุกชาติในภูมิภาคอาเซียน

ทำให้ในรอบทศวรรษนี้หลายประเทศจึงวางแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในภูมิภาคอาเซียนรวมกันถึงกว่า 6 ล้านล้านบาท อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ประเทศไทย เป็นต้น

โดยต่างก็ตั้งเป้าที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีความปลอดภัย สะดวก ประหยัดและคุ้มค่า รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องภายใต้การรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้ผลิต

อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคอาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญร่วมกันในหลายด้าน อาทิ การเดินทางเชื่อมต่อกับภูมิภาคด้วยระบบรางที่ยังขาดช่วง (Missing Link) และในแต่ละประเทศต่างก็อ้างอิงมาตรฐานต่างกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบในการเดินทางโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Interoperability) ตลอดจนการขาดอำนาจต่อรองในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้ผลิต

ทั้งนี้ หากประเทศในอาเซียนร่วมมือกันภายใต้การลงทุนมหาศาลจะถือเป็นโอกาสในการดึงดูดประเทศเจ้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระบบรางของโลกได้ในอนาคต

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศในอาเซียนต้องร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานกลางระบบรางของอาเซียนขึ้น โดยเมื่อปี พ.ศ.2559 ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ The 1st ASEAN Rail Standardization ที่ประเทศเกาหลีใต้

และเป็นที่น่ายินดีในปลายปี 2561 นี้ ประเทศไทยโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ The 2nd ASEAN Rail Standardization โดยจัดในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2561 ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.2561 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทอง

“โดยมีนานาประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นในการวางแผนสร้างมาตรฐานร่วมกัน เพื่อการเชื่อมกันอย่างไร้รอยต่อภายในภูมิภาค เพื่อประโยชน์ของประชาชน สังคมและเศรษฐกิจอาเซียนร่วมกัน ดังคำขวัญของอาเซียนที่ว่า One Community Many Opportunities” ผศ.ดร.รัฐภูมิกล่าว