เปิดโลก!เยาวชนไทยยุค 4.0...ตามติดชั้นเรียนฮาร์วาร์ด


เยาวชนคนรุ่นใหม่” คือความหวังและจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน การเพาะต้นกล้าแห่งหลักนิติธรรม หรือการปลูกฝังเยาวชนในแนวคิดที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องริเริ่มและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเยาวชน ซึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้นำโลกรุ่นใหม่ และเป็นพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่สังคม

จากเหตุผลดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้ร่วมมือกับ สถาบัน IGLP แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรนานาชาติด้านหลักนิติธรรมและการกำหนดนโยบายขึ้น เพื่อมุ่งสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายว่าไม่ใช่สิ่งสูงสุดในตัวเอง แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างความเสมอภาคและจำเป็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมกลุ่มต่างๆ

จะได้ตระหนักว่า หลักนิติธรรมไม่ใช่เพียงเรื่องของนักกฎหมาย หากแต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม โดยนอกเหนือจากการจัดหลักสูตรสำหรับผู้นำรุ่นใหม่และนักวิชาการแล้ว ยังได้มีการต่อยอดมายังกลุ่มเยาวชนด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศได้ฝึกทักษะความเป็นผู้นำ

รวมทั้งกระบวนการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกับคณาจารย์ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในการฝึกอบรมด้านนโยบายสำหรับผู้นำโลกรุ่นใหม่ (Workshop for Next-Gen Global Policy Leaders) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ความหลากหลายของเยาวชนในโครงการ

ในการคัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เฟ้นหานักศึกษาที่มีศักยภาพจากทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่สนใจจากทุกสาขาวิชาสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ และได้พิจารณาคัดเลือกนักศึกษาจากคุณสมบัติ

ประกอบกับความสนใจและเป้าหมายที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับดีเยี่ยม ซึ่งมีนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์และสาขาอื่นๆ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปลูกฝังหลักนิติธรรมให้กับเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้นำโลกรุ่นใหม่ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง

TIJ จึงได้ขยายการอบรมหลักนิติธรรม เชิงปฏิบัติการ “TIJ Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy” ซึ่งแต่เดิมมุ่งเน้นกลุ่มผู้นำทางสังคมและผู้บริหารรุ่นใหม่ ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเยาวชนด้วย จากการขยายกลุ่มผู้เข้าอบรม ทำให้เราได้ตระหนักว่า เยาวชนมีศักยภาพที่จะร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี

“การปลูกฝังหลักนิติธรรมให้กับเยาวชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำโลกรุ่นใหม่ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง” เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์อาร์นูฟ เบคเกอร์ จากมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศ และศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด ลอว์ สกูล ในระดับปริญญาเอกด้านกระบวนการยุติธรรม ผู้นำ การฝึกอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่า สำหรับนักศึกษาในประเทศไทย เราได้คัดเลือกหัวข้อการฝึกอบรมใน 4 ประเด็นหลัก ที่เป็นปัญหาสำคัญของโลก

ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นความรับผิดชอบร่วมกันในฐานะของพลเมืองโลก ด้านสุขภาพความเป็นอยู่ของประชากรโลก ในประเด็นเรื่องสิทธิบัตรกับโอกาสในการป้องกันรักษาโรคภัยต่างๆ ด้านแรงงานในประเด็นความแตกต่างของค่าแรงในพื้นที่ที่ต่างกัน และเรื่องมาตรฐานกฎหมายแรงงานในตลาดการค้าโลก และด้านสังคมของประเทศกำลังพัฒนา ในประเด็นความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

“เราต้องร่วมกันหาคำตอบสำหรับ 4 ประเด็น คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชากร แรงงาน และด้านสังคม เพื่ออนาคตที่ดีกว่า”

ในการฝึกอบรมนั้น นอกจากการหยิบยกประเด็นที่ผู้นำรุ่นใหม่ควรพิจารณาแล้ว ยังได้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำในอนาคต ซึ่งครอบคลุม ทักษะความเป็นผู้นำ ที่ต้องคิดอย่างรอบด้าน และกล้าลงมือปฏิบัติ ความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ รวมทั้งนโยบาย ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการกำหนดกฎเกณฑ์

ศาสตราจารย์อาร์นูฟ กล่าวด้วยว่า สำหรับเยาวชน ความหมายของคำว่า “ความยุติธรรม” อาจแตกต่างกันไปตามการตีความหมายและประสบการณ์เฉพาะตัวบุคคล ผู้นำรุ่นใหม่จึงต้องช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นต่อไป”

ขณะที่ นางสาวจัวรอง โจว “ทีน่า” จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า นักกฎหมายที่โลกสมัยใหม่ต้องการ จะไม่ใช่ผู้ที่เพียงแต่จำหลักกฎหมายได้เท่านั้น แต่ต้องสามารถคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับหลักนโยบายได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโลกอนาคต

เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากขึ้น หากเกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบไปได้ทั่วโลก หลักนิติธรรมจึงเป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนต้องเข้าใจอย่างถูกต้องตรงกัน เพื่อที่จะเข้าใจบริบทของสังคมโลกได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ก็คือ มุมมองในการแก้ไขปัญหาในข้อจำกัดที่แตกต่างกัน การได้รับโจทย์ที่มีข้อจำกัดต่างจากที่คุ้นเคย

“ซึ่งทำให้เห็นว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างไม่ได้หาคำตอบได้เพียงมุมเดียว เราจำเป็นต้องมองให้รอบด้านในทุกมิติ ทำความเข้าใจกับเหตุผลและเงื่อนไขข้อจำกัด เราจึงจะพบว่าการแก้ไขปัญหาไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียวเสมอไป”

ทางด้าน นิสิตสาขาภาษาและวัฒนธรรม คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ นางสาวเอพริล คำมิ่ง “เอพริล” เล่าว่า ตอนแรกที่สมัครหลักสูตรจากฮาร์วาร์ด ถึงแม้จะมีความกังวล เพราะไม่ได้เรียนมาสายนิติศาสตร์ แต่ชื่อของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ฝึกอบรมกับสถาบันที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก

“แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการได้เรียนรู้เรื่องสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิบัติซึ่งทำได้ยาก ถือเป็นโอกาสให้ได้ขบคิดปัญหานี้อย่างละเอียด เพื่อหาแนวทางจัดการแก้ไขต่อไป”

นางสาวณัฐนันท์ พื้นบนธนานันท์ “นัด” นิสิตจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า การอบรมจะช่วยต่อยอดสายวิชาที่กำลังเรียนอยู่ได้ การเรียนรู้หลักนิติธรรมผ่านกรณีศึกษาต่างๆ ทำให้รู้ว่า การมองปัญหามีแง่มุมที่หลากหลาย

“ซึ่งหากต้องใช้ข้อกฎหมายหรือความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหา เราจำเป็นต้องพิจารณาไปที่รากเหง้าของปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาที่สาเหตุ ข้อกฎหมายที่มีอยู่เป็นไม้บรรทัดที่ดีและมีความเป็นธรรมอยู่แล้ว เพียงแต่ขึ้นอยู่กับคนใช้ว่าจะใช้อย่างไร”

เช่นเดียวกับ “เปรม” นายเปรม สิงห์ กิล นักศึกษาจากสาขาอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกถึงเหตุผลที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ว่า ผมอยากรู้จักหลักนิติธรรมให้มากขึ้น การอ่านจากหนังสือ อาจช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่การเข้าร่วมอบรมในโครงการ ได้ทำให้ผมเข้าใจหลักนิติธรรมชัดเจนมากขึ้น

“ไม่เพียงแต่เป็นแนวคิดที่เชื่อมกลไกกฎหมายทั้งมหาชนและทางแพ่ง แต่ยังสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้รับจากการเรียนรู้จากคณาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคือ การสอนให้วางกรอบความคิดอย่างรอบด้าน ซึ่งแตกต่างจากที่เรียนอยู่ในปัจจุบัน และทำให้ผมและเพื่อนๆ มีมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น”

ปิดท้ายด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการจัดอบรมครั้งนี้ว่า ผู้นำที่โลกต้องการในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่มีความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นคนดีและมีความยุติธรรม ซึ่งปลูกฝังได้จากการเรียนรู้หลักนิติธรรม “หลักนิติธรรม” จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาในทุกแขนง

“โดยเฉพาะนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์ เพราะหลักนิติธรรมนั้นเปรียบเสมือนสายเลือดที่ฝังอยู่ในตัวของนักเรียนนิติศาสตร์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานใดก็ตาม ถึงแม้กฎหมายจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมายและการนำไปปรับใช้ในสังคม” คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวย้ำ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ: คุณชมพูนุท ทองสุโชติ (ไอซ์) โทร.087-508-1538, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย โทร.0-2118-9400