ปัญหาเครียดพุ่ง! แชมป์ปรึกษาสายด่วน 1323 เกือบ 3 หมื่นสาย


นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคเครียดว่าว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร วิถีชีวิตที่เร่งรีบ

ส่งผลให้ประชาชนทั้งเขตเมืองและชนบท เผชิญกับความเครียดทุกวันอย่างไม่รู้ตัวและหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยอาการมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางอารมณ์สภาพแวดล้อม และความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน    

กลุ่มที่น่าห่วงมากคือวัยทำงาน เนื่องจากต้องรับผิดชอบหลายอย่างทั้งครอบครัวและที่ทำงาน ผลการให้บริการทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในปี 2560 พบว่าปัญหาที่ขอรับบริการมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ เรื่องความเครียด วิตกกังวล รวม 27,737 สาย คิดเป็นร้อยละ 40 ของสายที่โทรขอรับบริการทั้งหมด 70,268 สาย

โดยจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีจำนวน 14,935 สาย กลุ่มอายุที่ใช้บริการมากที่สุดคือ อายุ 22-59 ปี คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-21 ปี ร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุ    

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเครียด หากปล่อยความเครียดสะสม จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวัน มีปัญหาสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง ความสามารถในการทำงานลดลง หรือผิดพลาดบ่อย และที่สำคัญความเครียดจะมีผลให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เป็นหวัดได้ง่าย 

นอกจากนี้ ยังมีผลให้การทำงานของอวัยวะภายในผิดปกติ เกิดเป็นโรคเรื้อรังได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีบุตรยากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ผู้ทำงานทุกคน ยึดหลักปฏิบัติ 10 วิธีเพื่อช่วยลดความเครียด ดังนี้ 1.ออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาทีทุกวัน หรือให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินส์ (Endorphins) จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายอาการเครียด สมองโล่ง และอารมณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 90-120 นาทีหลังออกกำลังกาย จะช่วยให้นอนหลับสนิทและนานขึ้น

2.สร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน โดยใช้คำพูดเหล่านี้ให้ติดปาก ได้แก่ สวัสดีเพื่อทักทาย ขอโทษ ขอบคุณ ชื่นชมอย่างจริงใจเมื่อเพื่อนร่วมงานทำดี 3.สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ด้วยการแสดงน้ำใจช่วยเหลือกัน ห่วงใยกัน ให้กำลังใจกัน 4.ระหว่างการทำงานควรพักบ้างเพื่อผ่อนคลาย อาจใช้วิธีหลับตาเพื่อพักสายตา 5-10 นาที หรือเดินยืดเส้นยืดสายก็ได้ 

5.ใช้สติจัดการกับอารมณ์ 6.บริหารจัดการเวลาทำงานอย่างเหมาะสม ให้งานเสร็จทันเวลากำหนด 7.กล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็น บอกความต้องการในเชิงสร้างสรรค์ 8.สร้างความเชื่อมั่นให้ตนเอง โดยให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอว่า “เราต้องทำได้” 

9.ฝึกนิสัยการออมรายได้ส่วนหนึ่งไว้เพื่ออนาคต การมีเงินออมจะทำให้เรามีความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจ และ 10.ต้องแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี อย่าหนีปัญหา โดยแก้ที่สาเหตุ หากแก้ไม่ได้ อย่าอาย หรือกลัวเสียหน้า ขอให้ปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้วางใจ 

“หากเกิด 3 อาการดังต่อไปนี้ คือ 1.รู้สึกว่าตัวเองมีอาการสับสนเหมือนคนหลงทาง 2.มีความเครียดวิตกกังวลเกินกว่าเหตุและห้ามตัวเองไม่ได้ และ 3.นอนไม่หลับ กินไม่ได้ หงุดหงิดตลอดเวลา หากมีอาการในข้อใดข้อหนึ่งปรากฎ ขอให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือขอรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ฟรี ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว