“หมอธี”นำทีม!รมช.ศธ. ลงพื้นที่ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี ติดตามปฏิรูปหลักสูตรใหม่อาชีวะ


เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะตรวจติดตามนโยบายด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด เพื่อรับฟังปัญหาก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ อย่างเป็นทางการครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ จังหวัดจันทบุรี

โดยวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีกำหนดการประชุมคณะผู้บริหารด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้งานเครือข่ายยูนิเน็ต (Nuinet) ในเวลา 14.00 น. ณ วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี

นอกจากนี้ ช่วงเวลา 13.30 น. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. มีกำหนดประชุมคณะกรรมการดำเนินการขับเคลื่อนและบูรณาการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor : EEC) โดยคณะกรรมการฯและภาคเอกชน ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ จังหวัดระยอง

เลขาธิการ กอศ.กล่าวด้วยว่า สำหรับในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นประธานการประชุมการนำนโยบายสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวศึกษา หลักสูตรที่สามารถพัฒนาเป็นหลักสูตรใหม่ สาขาที่ขาดแคลน และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี 

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Science-Based ที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ไปแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ หรือ (Project-Based Learning: PBL) โดยสาขาช่างอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์ เปิดสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี, สาขาเทคโนโลยีการท่องเที่ยวฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา

สาขาเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน และสาขาเทคโนโลยีอาหารฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี 

“นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอถึงความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษาระบบ KOSEN (โคเซ็น) ซึ่งเป็นระบบการศึกษาด้านอาชีวศึกษาที่เป็นที่ยอมรับอย่างสูงในประเทศญี่ปุ่น รองรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ได้เข้าศึกษาต่อ 5 ปีในด้านอาชีวศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความชำนาญอย่างสูงในสายอาชีพนั้นๆ โดยมีการพัฒนาครู เทคนิคการสอน และรูปแบบการสอนแบบโมโนซูคูริ (Monozukuri) ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพื่อให้ผู้เรียนที่จบออกไปมีศักยภาพ โดย สอศ.เตรียมเปิดสอนในสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ที่วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี” ดร.สุเทพกล่าว