“นักศึกษาวิศวะลาดกระบัง”เจ๋ง! คว้ารางวัลความปลอดภัยไซเบอร์เวทีมาเลเซีย


บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวโจรไซเบอร์แฮ็คเจาะข้อมูลสร้างความสียหายมหาศาลให้กับธุรกิจการดำเนินงานมากมาย รวมทั้งข่าวสารดิจิตัลเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต การทำงาน การศึกษา และแพลตฟอร์มการทำธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และแม้จะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย ชีวิตที่ทันสมัยและประสิทธิภาพ แต่ก็มีภัยทางไซเบอร์ตามมาด้วย

ล่าสุดในการจัดแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge 2017 ณ ศูนย์ CCEC (Connexion Conference & Event Centre ) กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเวทีประลองทักษะและความสามารถในความปลอดภัยไซเบอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ผลปรากฏว่า ทีม 555 พลัส จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

ทั้งนี้ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดเผยรายละเอียดว่า การแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge จัดโดยเคพีเอ็มจี เป็นเวทีประลองทักษะและความสามารถในความปลอดภัยไซเบอร์

ทั้งในด้านการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Digital Forensics) การตรวจสอบช่องโหว่ของเว็บและโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile and Web Application Exploitation) ช่องโหว่ของระบบเครื่องข่ายและระบบปฏิบัติการ (Network and System Exploitation) การวิเคราะห์การทำงานของมัลแวร์ (Malware Analysis) การทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) การเข้ารหัส (Cryptography) และการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security) เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ

เวทีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพความสามารถของเยาวชน พัฒนาการป้องกันการแฮคข้อมูลและยกระดับความปลอดภัยทางดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่มากมาย ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงคอมพิวเตอร์อีกต่อไปแล้ว บรรดาของใช้ภายในบ้านได้กลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้อัจฉริยะด้วย

“นวัตกรรมไอโอที เทคโนโลยีซึ่งช่วยให้ชีวิตของเราสามารถเชื่อมและติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันเทคโนโลยียังเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการถูกโจมตีทางไซเบอร์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งยังช่วยเผยแพร่ความรู้ให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อีกด้วย” รศ.ดร.คมสันกล่าว

ด้าน นายอิสรา นรานิรัติศัย (ดรีม) หนุ่มนักศึกษาหัวหน้าทีม จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า ทีมของเราได้เข้าแข่งขันรายการ KPMG Cyber Security Challenge ที่ประเทศมาเลเซีย มีสมาชิกในทีมมี 4 คนคือ ตัวผมเอง, นายเมธาสิทธิ์ รินทร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์, นายธรรศ แสงสมเรือง ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ, นายกมนณพ อรุณรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยมี ผศ.อัครเดช วัชระภูพงษ์ เป็นอาจารย์ผู้ควบคุมทีม

ในการแข่งขันเวทีดังกล่าว จะมีโจทย์ต่างๆ เพื่อทดสอบทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจะเป็นโจทย์ให้ทำเรียงลำดับเป็นข้อๆ ความท้าทายอยู่ที่เมื่อได้คำตอบในข้อปัจจุบันจะเป็นเบาะแสเพื่อหาคำตอบในข้อถัดไป สำหรับเกณฑ์การตัดสินดูจากคะแนนที่ได้จากการหาคำตอบและเวลาที่ส่งคำตอบที่เร็วที่สุดในกรณีที่ได้คะแนนเท่ากัน ทีมวิศวลาดกระบัง สจล.ได้เตรียมตัวมาอย่างหนักโดยการหาโจทย์เก่าๆและโจทย์จากการแข่งขันในรายการอื่นๆมาฝึกซ้อม

ประสบการณ์ที่เราได้รับจากการไปแข่งขันครั้งนี้จะนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์สำหรับบ้านเรา มีโอกาสได้รู้จักมืออาชีพในวงการความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้ฝึกประสบการณ์จากการแข่งขันและได้เพิ่มพูนความรู้ทางด้าน Cyber มากขึ้น และการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆ ทำให้เกิดความสามัคคีในทีมเป็นอย่างมาก

เพราะขั้นตอนการแข่งขันต้องช่วยกันระดมความคิด เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ ในเวลาเดียวกันยังช่วยแก้การไขรหัสแฮกข้อมูล นำมาประยุกต์ใช้ซึ่งทำให้ทราบถึงกลวิธีและจุดอ่อนของตนล่วงหน้า เพื่อหาทางป้องกันก่อนที่ผู้ประสงค์ร้ายจะกระทำการไม่ดีต่อระบบ 

อาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโจมตีทางระบบความปลอดภัยไซเบอร์ เกิดเป็นช่องโหว่จากความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อยู่ในระดับสูงสุดอย่างเป็นประวัติการณ์ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน

“ดรีม” อิสรา ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีมี 2 ด้าน ประโยชน์มากล้น แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้คอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัย เช่น ควรตรวจสอบความปลอดภัยอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ติดตั้งหรือดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ต่างๆที่มีความเสี่ยง และรักษาความเป็นส่วนตัว ไม่ดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ การตั้งรหัสผ่านต่างๆ ให้มีความยากต่อการเดา เพราะวิธีการของแฮ็กเกอร์จะหาจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของระบบ จากนั้นก็จะเจาะเข้ามาในเซิร์ฟเวอร์และเข้ามาทำความเสียหายให้กับข้อมูล

“นอกจากนี้ ควรมีข้อปฏิบัติที่ดี 1.ติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย 2.ตั้งค่าระบบ IT ให้มีความรัดกุม 3.สำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ 4.กำหนดสิทธิของผู้ใช้ และ 5.จัดการสภาพแวดล้อมทาง IT ให้เป็นระบบปิดมากที่สุด” นายอิสรากล่าว