ข่าวดี!ผลวิจัยชี้“นวดไทย”ลดเกร็งกล้ามเนื้อขา คลายทุกข์!เด็กป่วยโรคซีพี ได้ผลเยี่ยม


นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตได้เปิดคลินิกแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ในสถานพยาบาลที่อยู่ในสังกัด 18 แห่งทั่วประเทศ  เพื่อให้บริการผู้ป่วยจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ควบคู่กับการดูแลรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน

พร้อมทั้งศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของการนวดต่างๆ ที่มีผลดีในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเพื่อขยายผลใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ เกิดประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มคุณภาพบริการให้ผู้ป่วย  

ล่าสุดในส่วนของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการเฉพาะทางด้านการดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาในเรื่องพัฒนาการ ต่อปีให้บริการประมาณ 48,000 ราย เป็นเด็กสมองพิการหรือเรียกว่าเด็กซีพี (Cerebral Palsy: CP) ประมาณร้อยละ 5 

เด็กกลุ่มนี้ร้อยละ 50-75 จะมีปัญหานอนหลับยาก เนื่องจากกล้ามเนื้อขาหดเกร็งบ่อยๆ ซึ่งเกิดจากสมองส่วนที่เรียกว่ามอเตอร์ คอร์เท็กซ์ (Motor cortex) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ถูกทำลาย ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกตลอดเวลา มีปัญหาข้อต่อยึดติด ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องอดนอนไปด้วย จึงให้สถาบันฯวิจัยภูมิปัญญาการนวดไทยในการลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในเด็กที่สมองพิการในปี 2559-2560

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า ผลการวิจัยพบว่า การนวดแผนไทยร่วมกับการรักษาด้วยยาคลายกล้ามเนื้อเกร็ง สามารถลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อขาทั้ง 2 ข้างของเด็กซีพีลงได้ถึงร้อยละ 41-77 ให้ผลสูงกว่าเด็กซีพีที่รักษาด้วยยาคลายกล้ามเนื้อเกร็งอย่างเดียว 2-5 เท่าตัว เด็กหลับได้ง่ายขึ้นเอื้อต่อประสิทธิภาพการดูแลดีขึ้น และไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ 

ในเบื้องต้นนี้ได้เน้นขยายผลใช้ในกลุ่มผู้ปกครองเด็กก่อน เพื่อใช้ดูแลเด็กที่บ้านได้ ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการนอนหลับๆ ตื่นๆ เพราะต้องดูแลลูก และได้มอบนโยบายให้ศึกษาวิจัยการนวดไทยกับเด็กป่วยอีก 2 โรค คือโรคออทิสติก( Autistic) ซึ่งมีปัญหาหลักสื่อสารความรู้สึกตัวเองไม่ได้ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของสมองให้มีการสร้างสารสื่อประสาทที่ทำให้มีความสุขที่เรียกว่าสารเอนดรอฟิน( Endorphin) ช่วยในการควบคุมพฤติกรรมดีขึ้น และเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้นด้วย

ด้านแพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า ในการวิจัยการนวดไทยเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อของเด็กป่วยโรคซีพีครั้งนี้ สถาบันฯโดยศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศึกษาในกลุ่มเด็กซีพี 46 คน อายุ 2-6 ปี

แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่นวดและกินยาลดเกร็งกล้ามเนื้อด้วย 22 คน และกลุ่มที่กินยารักษาอย่างเดียว 24 คน โดยได้พัฒนานวดแบบกดจุดตามมาตรฐานวิชาการมีทั้งหมด 15 ท่า แตกต่างกันตามความรุนแรงโรคและตามอายุ 

การนวดจะใช้นิ้วหัวแม่มือกดนวดเฉพาะที่บริเวณกล้ามเนื้อเท่านั้นจุดละ 10 วินาที โดยที่กล้ามเนื้อต้นขาและน่อง นวดข้อนิ้วเท้าทุกข้อทั้ง 2 ข้าง นวดหลังทั้งท่านอนตะแคงและท่านั่งนวดบ่า นวดแขน นวดท้อง นวดที่ใบหน้า บริเวณคิ้ว ใต้คาง ริมฝีปากบนและล่างเหมือนลักษณะการยิ้ม จากนั้นจึงใช้เครื่องมือมาตรฐานวัดการความแข็งเกร็งกล้ามเนื้อก่อนและหลังทดลองทั้ง 2 กลุ่ม

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มเด็กที่ได้รับการนวดไทย 22 คน มีระดับการเกร็งกล้ามเนื้อขาโดยรวมลดลงร้อยละ 41 ขณะที่กลุ่มรักษาด้วยยาอย่างเดียวลดลงร้อยละ 8.3  ลดอาการเกร็งที่กล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps muscle) ลงได้ร้อยละ 55 ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อน่องขา (Soleus muscle) ลงได้ร้อยละ 77 และลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อขาส่วนหลัง (Hamstring muscle) ลงได้ร้อยละ 32 ขณะที่เด็กกลุ่ม 24 คน ที่กินยาอย่างเดียวให้ผลคลายกล้ามเนื้อที่หน้าขา น่องขา และกล้ามเนื้อขาด้านหลังร้อยละ 21, 8.3 และ 8.3 เท่านั้น ดังนั้น ในปีนี้ทางสถาบันฯได้ขยายผลการวิจัยในกลุ่มเด็กโรคนี้ในขนาดใหญ่ขึ้น  เพื่อสามารถยืนยันทางวิชาการในระดับสากลต่อไป

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า เทคนิคสำคัญของการนวดทั้ง 15 ท่าในเด็ก ต้องนวดแบบนุ่มนวล ไม่มีการดัดดึงเหมือนการนวดในผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกใจ จะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวข้อต่อ   ข้อต่างๆไม่ติด ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดและระบบน้ำเหลืองในร่างกาย กระตุ้นระบบประสาทสมองที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อภายนอกร่างกายให้ทำงานดีขึ้น ช่วยไล่ลมและลดอาการท้องอืด กระตุ้นการขับถ่าย แก้ท้องผูก  เด็กจะรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี ช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัวได้ด้วย

“หากผู้ปกครองที่มีลูกเป็นโรคซีพี หรือมีผู้ใหญ่ที่พิการจากโรคซีพี และต้องการรับบริการนวดเพื่อลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ สามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลข 0-5390-8300 ต่อ 73187 โดยคลินิกแพทย์แผนไทยเปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-19.30 น. และวันเสาร์เปิด 09.00-17.00 น.”

อนึ่ง โรคซี.พี.เป็นความพิการของสมองอย่างถาวร สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อขณะแม่ตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน ซิฟิลิส แม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด สมองขาดอ๊อกซิเจนระหว่างคลอด หรือน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานคือ 2,500 กรัม ปัจจุบันพบได้ 1-3 คนต่อเด็กทารก 1,000 คน หรือปีละประมาณ 2,000 คน

เด็กจะมีร่างกาย การเคลื่อนไหวและการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น มีการเกร็งของใบหน้า ลิ้น ลำตัว แขน ขา การทรงตัวในขณะนั่ง ยืน เดิน ผิดปกติ หรืออาจเดินไม่ได้ โรคนี้รักษาไม่หายขาด ใช้วิธีรักษาประคับประคองตามอาการและความรุนแรง 

เด็กซีพี ถ้าเป็นตั้งแต่แรกเกิด จะสังเกตได้จากการมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อไม่เหมือนเด็กปกติเช่น คอไม่แข็ง นั่งหรือยืนได้ช้ากว่าปกติ ถ้ามีสมองพิการภายหลังคลอด อาจจะมีพัฒนาการที่ถดถอยจากเดิม เช่น เคยยืน วิ่งเล่น พูดคุยได้ ก็จะไม่สามารถทำได้ เป็นต้น