“ม.อุบลฯ”ทำ!MOU ขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภาคอีสาน


มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน กลุ่มเกษตรกร ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในงานการประชุมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อไม่นานมานี้

โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจแบ่งเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ มันสำปะหลังอินทรีย์ แตงโมอินทรีย์ และสมุนไพรอินทรีย์ นับเป็นการบูรณาการขับเคลื่อนทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2561 บรรลุเป้าหมายที่กระทรวงเกษตรฯได้ตั้งเป้าหมายไว้ จำนวน 221,868 ไร่

ในส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีอาจารย์สายเพชร อักโข รองคณบดีฝ่ายแผน วิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา คณะบริหารศาสตร์ เป็นผู้แทนลงนาม ซึ่งบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้เป็นการต่อยอดและขยายผลที่สืบเนื่องมาจากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบการผลิตแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิตของเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน”

ซึ่งมี ดร.กาญจนา คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมเป็นนักวิจัยที่บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล และเกษตรกรในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอนาเยีย อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสว่างวีระวงศ์ และอำเภอวารินชำราบ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลและร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ร่วมลงนามในบันทึก 2 ฉบับ ได้แก่

ฉบับที่ 1 โครงการ การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ เป็นการลงนามร่วมกัน 4 ฝ่าย ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ สำหรับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับผิดชอบ คือ 1) การสร้างกลุ่มและการบริหารระบบการทำงานภายในกลุ่ม 2)การประเมินโครงการการสร้างศูนย์การเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์แบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่

ฉบับที่ 2 โครงการ การปลูกสมุนไพรอินทรีย์ เป็นการลงนามร่วมกัน 4 ฝ่าย ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โรงพยาบาลตระการพืชผล และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรอินทรีย์เครือข่ายโรงพยาบาลตระการพืชผล สำหรับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับผิดชอบ คือ 1) การสร้างกลุ่มและการบริหารระบบการทำงานภายในกลุ่ม 2) พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและการผลิตพืชสมุนไพรแบบบูรณาการ

ทั้งนี้ ดร.กาญจนา คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะบริหารศาสตร์ นักวิจัย ม.อุบลฯ กล่าวเสริมว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะนักวิจัยที่ร่วมกันทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร โดยมีการต่อยอดและนำผลที่ได้จากโครงการวิจัย ไปสู่การร่วมลงนามใน MOU เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์

“ตลอดจนการขยายไปสู่การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชสมุนไพรอินทรีย์ ที่ก่อประโยชน์ทั้งในแง่ของการพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อความมั่นคง ยั่งยืน และขอขอบคุณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่อำนวยความสะดวกให้สามารถทำงานวิจัยแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยดี” ดร.กาญจนากล่าว

นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถหนุนนโยบายรัฐได้เป็นอย่างดีในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ พร้อมเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม