สกว.เตรียมเสนองานวิจัย!แก้ปัญหาน้ำท่วม จ.พัทลุงซ้ำซาก!!

ดร.อนิศรา เพ็ญสุข ติ๊บแก้ว อาจารย์คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ในฐานะนักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการบริหารจัดการน้ำ เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติจนทำให้ความสามารถในการรองรับน้ำของ 7 ลุ่มน้ำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ไม่สามารถเก็บกักน้ำในปริมาณที่มากขนาดนั้นไว้ได้

บวกกับลักษณะภูมิประเทศของพัทลุงฝั่งตะวันตกที่เป็นเทือกเขา พื้นที่ค่อนข้างสูงขณะที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มเมื่อเกิดฝนตกมวลน้ำป่าจากภูเขาจะไหลบ่ามาทางฝั่งตะวันออกเพื่อลงสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งใช้เป็นเส้นทางเดียวในการผันน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย ขณะที่จังหวัดสงขลาก็ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน ทำให้ไม่สามารถรับน้ำจากพัทลุงได้อีก

ส่งผลให้ระดับน้ำขังในพื้นที่พัทลุงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เกิดน้ำท่วมหนักเป็นวงกว้างและท่วมขังอยู่เป็นเวลานานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงยากต่อการจัดการ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

แต่คำถามคือ หากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทางจังหวัดจะต้องมีวิธีอย่างไรที่จะเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนนี้ หรือจะแก้ไขปัญหาเบื้องต้นอย่างไรไม่ให้ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นระยะเวลานาน หรือไม่ให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ ขึ้นอีก

จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “โครงการการสนับสนุนกลไกการวางแผนจัดทำงบประมาณบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรด้วยระบบสารสนเทศ จังหวัดพัทลุง” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ “ชุดโครงการการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ด้านน้ำเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนงานด้านบริหารจัดการน้ำของจังหวัด”

ซึ่งมีทั้งหมด 5 จังหวัด ประกอบด้วย ลำพูน ชัยนาท นครพนม ระยอง และพัทลุง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นโครงการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดกลไกระดับจังหวัด เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการซ้ำซ้อนของการจัดทำงบประมาณ

ดร.อนิศรากล่าวต่อว่า พัทลุงเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่องภายใต้ชุดโครงการดังกล่าว โดยมีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุงร่วมกันทำวิจัย ซึ่งการที่จังหวัดพัทลุงได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการวิจัยครั้งนี้เพราะพัทลุงเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี แต่เป็นชุมชนเข้มแข็งจึงต้องการใช้ความเข้มแข็งของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขและผลักดันให้เกิดแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งให้น้อยที่สุด

เพราะ “น้ำ” เป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว และค่อนข้างเกี่ยวเนื่องกันหลายภาคส่วน เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่า ที่ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม จึงจะสร้างมูลค่าในตัวของตัวเองได้

เมื่อมองว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาของภาคเกษตรเช่นกัน จึงนำมาสู่การศึกษาวิจัยเรื่องน้ำให้เกิดความครอบคลุมทุกมิติเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มจากการดำเนินการรวบรวมแผนงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

ทำให้พบว่า ที่ผ่านมาขาดการจัดทำระบบสารสนเทศ ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม ไม่มีการจดบันทึกข้อมูลการทำโครงการที่ผ่านมา และยังขาดระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพแบบทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่ควรจะต้องมีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเร่งด่วน

เช่นเหตุการณ์น้ำท่วมไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ หน่วยงานจึงจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพราะขาดระบบการเตือนภัย ขณะที่ชาวบ้านมีการสร้างกลุ่มเตือนภัยกันเองสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้หลังเกิดเหตุเพียง 2-3 วัน นอกจากนี้ยังมีระบบเตือนภัยเครือข่ายที่มีคณะกรรมการของแต่ละลุ่มน้ำค่อยแจ้งข่าวสารระหว่างกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยการสื่อสารผ่านโซเซียลมีเดียซึ่งถือเป็นจุดเด่นของความเข้มแข็งของชุมชน 

ดร.อนิศรากล่าวอีกว่า จากประสบการณ์เมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน ชาวบ้านก็เริ่มใจไม่ดี จึงเตรียมยกของขึ้นที่สูงแม้จะดูว่าเป็นความตื่นตัวของชาวบ้าน แต่ถือเป็นหน้าที่หลักของภาครัฐและหน่วยงานที่จะต้องเข้าไปให้ความรู้เรื่องของระบบเตือนภัยแก่ชาวบ้านได้เข้าใจว่าฝนตกหนักลักษณะไหนที่ควรระวัง หรือตกกี่วันจึงควรตื่นตัว และควรจะต้องทำอย่างไรหรือควรมีการแจ้งเตือนอย่างไร ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนของหน่วยงานที่ควรต้องเร่งปรับปรุง

สำหรับข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการแก้ปัญหาเบื้องต้น แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้นให้เร่งเคลียร์สิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำให้ออกไปจากพื้นที่ และระยะยาวจะต้องแก้ปัญหาลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ 

โดยผลการดำเนินงานขณะนี้ ได้รวบรวมข้อมูลและแผนการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับน้ำจากทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งในส่วนของกรมชลประทาน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูล (Database) เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำ “แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดพัทลุง” ในการประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 7 ลุ่มน้ำของจังหวัดราวกลางเดือนธันวาคม 2560 นี้ ก่อนที่จะนำแผนดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณาจัดทำงบประมาณที่เกี่ยวกับน้ำในพื้นที่ในปีต่อๆไป

ดร.อนิศรากล่าวด้วยว่า เรื่องของระบบสารสนเทศหรือการจัดทำข้อมูลถือเป็นจุดอ่อนของหน่วยงานในการบริหารจัดการ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทุกคนรู้ว่า ทำอะไรอยู่ตรงไหน และส่งผลกระทบอย่างไรต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบ้าง ดังนั้น การจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวนี้ ยังช่วยอัพเดทข้อมูลการทำโครงการเกี่ยวกับน้ำในพื้นที่จังหวัดพัทลุงได้ว่า ปัจจุบันมีโครงการอะไรที่ทำไปแล้ว และที่กำลังทำอยู่ แต่ละจุดสามารถแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนได้ดีพอหรือไม่ หรือยังมีพื้นที่ไหนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาและป้องกัน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาได้ในที่สุด

“อีกทั้งยังช่วยดลความซ้ำซ้อนของการจัดทำงบประมาณอีกด้วย มีความมั่นใจมากว่าผลงานวิจัยนี้จะเข้าไปเติมเต็มให้กับแผนการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดพัทลุงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ดร.อนิศรากล่าว