“อาจารย์เภสัช จุฬาฯ”คว้า!อิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด จากสมาพันธ์นักประดิษฐ์แห่งฝรั่งเศส


ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ารับเครื่องอิสริยาภรณ์เชิดชูเกียรติขั้น Grand Officer ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด จากสมาพันธ์นักประดิษฐ์แห่งฝรั่งเศส (Federation Francaise des Inventeurs) ณ ศูนย์ประชุม Ville de Boulogne-Billancourt  กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้

โดยรางวัลดังกล่าวประกอบด้วยเหรียญอิสริยาภรณ์เป็นดาราประดับอกเสื้อ และสายสะพายธงชาติฝรั่งเศส พร้อมด้วยใบประกาศเกียรติคุณ หมายเลข 30705 โดยได้มีการมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เชิดชูเกียรติ ในการประชุมทางด้านวิทยาศาสตร์และการจัดการของฝรั่งเศส (French Scientific and Management Conference)

นอกจากเหรียญ Grand Officer ซึ่งเป็นเหรียญชั้นสูงสุดแล้ว ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ยังได้รับเหรียญชั้นสอง (ชั้น Officer) อีกด้วย นับเป็นการผ่านการพิจารณาให้สมควรได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ทั้งสองระดับในคราวเดียวกัน

รางวัลเชิดชูเกียรติดังกล่าว เป็นรางวัลชั้นสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และการประดิษฐ์คิดค้นในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแต่เดิมรางวัลนี้จะพิจารณาให้แก่นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสเท่านั้น ปีนี้เป็นปีแรกที่สมาพันธ์นักประดิษฐ์แห่งฝรั่งเศสต้องการให้เป็นรางวัลในระดับโลก โดยขยายขอบเขตการพิจารณาให้กับนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์จากทั่วโลก

สำหรับปีนี้ ได้พิจารณาจากผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับจาก 26 ประเทศ เหรียญรางวัลดังกล่าวมอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานที่มีคุณภาพสูงระดับนานาชาติเป็นที่ประจักษ์และสะสมผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นการให้รางวัลแก่ผลงานใดผลงานหนึ่งโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการนานาชาติทำหน้าที่พิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเชิญให้นำเสนอผลงาน และมีการคัดเลือกเป็นรอบๆ จนกระทั่งถึงขั้นสุดท้ายที่ต้องมีการนำเสนอโดยปากเปล่าบนเวทีต่อคณะกรรมการและผู้ฟังในห้องประชุม

ทั้งนี้ ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ เป็นนักวิจัยด้านเภสัชศาสตร์และนักประดิษฐ์คิดค้นเพื่อหานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นนวัตกรรมที่เกิดจากแหล่งกำเนิดภายในประเทศ 

ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ประสบความสำเร็จระดับสูงในระดับนานาชาติ เคยได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ.2558 และเหรียญอิสริยาภรณ์เชิดชูเกียรตินักนวัตกรรมชั้นสูงสุด (Grand Officer) จากประเทศเบลเยี่ยม และสหภาพยุโรป รวมทั้งรางวัลอื่นๆ จากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน โปแลนด์ โครเอเซีย อิตาลี เป็นต้น 

ในการประชุมทางด้านวิทยาศาสตร์และการจัดการของฝรั่งเศสครั้งนี้ ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมจากไหมและมะพร้าวของประเทศไทยที่เน้นการใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเภสัชกรรมในการเสริมสร้างผิวหนังและรักษาแผล รวมทั้งการสร้างสาร biocellulose จากวัตถุดิบทั้งสองชนิด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ โทร.0-2218-3364-6, 086-177-9955