ชง!ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สอดแทรกสอนใน 8 กลุ่มสาระการศึกษาขั้นพื้นฐาน


ดร.ตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า สนช.และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” กับการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดยจะพยายามผลักดันให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สอดแทรกบูรณาการการเรียนการสอนเข้าไปในรายวิชาต่างๆ ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ดร.ตวงกล่าวต่อว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นความรู้ระดับปรัชญาอันเกิดจากหลายๆ ทฤษฎี และหลายๆ หลักการที่สัมพันธ์กันมาหลอมรวมกัน ดังนั้น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงสามารถนำไปใช้ดำเนินชีวิต แก้ปัญหา และพัฒนาได้ทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้สูงขึ้น และให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญของคนในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างโดดเด่น

การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเปรียบเสมือนมาตรฐานสำคัญมาตรฐานหนึ่ง จึงไม่ควรนำมาเรียนแบบให้ท่องจำแบบ Passive Learning แต่ควรนำมาเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning ด้วยการออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการคิด วิเคราะห์ และประเมิน เพื่อหลอมรวมค่านิยมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนที่ผู้เรียนจะได้นำไปลงมือทำจริงอย่างมีแบบแผนจนบรรลุผลสำเร็จอย่างภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับเข้าใจ รู้แท้ และแตกฉานด้วยตนเอง จนสามารถนำไปใช้ พัฒนาต่อยอดและขยายผลแบบยั่งยืนได้ กลายเป็นความรู้แบบคงทน (Enduring Understanding) ซึ่งเป็นระดับปัญญาที่สามารถเรียกใช้ได้ทันที

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ควรนำไปเรียนรู้แบบแยกส่วนออกมาเป็นวิชา แต่สามารถออกแบบการเรียนรู้โดยสอดแทรกบูรณาการเข้าไปในรายวิชาต่างๆ ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างกลมกลืน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา”

ดร.ตวงยืนยันในตอนท้ายว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นจุดแข็งสำคัญในการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาไทย ที่สามารถจะพัฒนาเด็กไทยให้มีศักยภาพมากกว่าประเทศใดๆ ในโลก