หนังสั้น!ตีแผ่เรื่องจริงชายแดน ผลงาน“น.ศ.ราชภัฏสงขลา”คว้ารางวัลสิทธิมนุษยชน


ดร.ศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดภาพยนตร์สั้นในโครงการสื่อศิลป์ปี 5 ตอน “Human Rights : แลต๊ะแลใต้” จัดโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)

จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ใช้กระบวนการสร้างสรรค์สื่อเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ผ่านภาพยนตร์สั้น ที่สามารถนำไปใช้รณรงค์เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ผ่านกรอบเนื้อหาและประเด็นที่น่าสนใจ 6 ประเด็น

ปรากฏว่า ผลงานเรื่อง “คำถามที่ไม่มีคำตอบ” ของนักศึกษา มรภ.สงขลาทีมสามสาวทหารเสือ สมาชิกประกอบด้วย น.ส.ฮาตีนา มะเระ น.ส.วันโซเฟีย บินดอเล๊าะ และ น.ส.ซูรีดา มอหะ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คว้าเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล

ดร.ศุภฤกษ์กล่าวต่อว่า ภาพยนตร์สั้นเรื่องที่นักศึกษานิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา ผลิตขึ้นนี้ สร้างจากเค้าโครงเรื่องที่เกิดขึ้นจริง มีกรอบเนื้อหาและประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้-อุ้มหาย เป็นเรื่องราวของคนที่สูญหายไปในเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่าใครอุ้มหายไปโดยไม่มีข่าวคราว

จากเวลาที่ผ่านวันเป็นเดือน ผ่านเดือนเป็นปี ถึงแม้ญาติจะเพียรพยายามสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่มีแม้คำตอบใด ๆ ถึงกระนั้นญาติของผู้สูญหายก็ยังคงรอคอยอย่างมีความหวัง

อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากผลงานเรื่องคำถามที่ไม่มีคำตอบที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้แล้ว ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “เกาะเนรมิต” จากนักศึกษาทีม Victory ที่มีสมาชิกประกอบด้วย 1.น.ส.สุพรรษา เตาวะโต 2.น.ส.แคททรีน่า จันทร์ชา 3.น.ส.รุ่งอรุณ ทองแก้ว 4. น.ส.สุภัคดี ฤทธิเดช และ 5.น.ส.อมรดา ชูประสิทธิ์ สามารถผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท สนับสนุนการผลิตภาพยนตร์สั้น

โดยนำเสนอกรอบเนื้อหาและประเด็นการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องราวของการใช้แรงงานเด็กในการทำการประมง ที่ผู้เสียหายคือเด็กชายคนหนึ่งใน จ.ตรัง ขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาล เนื่องจากเด็กชายไม่กล้าเปิดเผยชื่อของผู้ที่ละเมิดสิทธิและใช้แรงงานเด็ก เพราะหวั่นเกรงอิทธิพลและกลัวผลที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง