“กรมสุขภาพจิต” ชี้วัยรุ่นซึมเศร้า อาจแสดงออก!มีปัญหาการเรียน


จากกรณีที่มีข่าวอดีตนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 อายุ 21 ปี เครียดและฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งบิดาให้ข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตเคยเรียนคณะแพทยศาสตร์ชั้นที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง คาดว่าเรียนไม่ไหว จึงพักการเรียน แล้วไปสมัครเรียนคณะอื่นในมหาวิทยาลัยอื่นนั้น

นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจพ่อแม่และขอเป็นกำลังใจกับการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ปัญหาการเรียน เป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และเป็นการยากที่จะประเมินว่านักศึกษารายนี้ ทำเต็มที่หรือยัง เพราะทุกคนก็ล้วนหวังดี แต่ภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ผลการเรียนด้อยลงได้ ความหวังดีจะกลายเป็นการกดดันแทน    

เนื่องจากการเรียนแพทย์ในชั้นที่สูงขึ้น จะมีความยุ่งยาก เนื้อหาจะมีความเข้มข้นเฉพาะด้านขึ้นเรื่อยๆ หรือการเรียนในสายอาชีพอื่นๆก็เช่นกัน พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับฟังปัญหาและร่วมหาทางออกตั้งแต่ต้น หากเป็นไปได้ควรให้ลูกได้ตัดสินใจเลือกเรียนตามศักยภาพ ตามความสนใจหรือความถนัดจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และไม่มีใครที่แก่เกินเรียน    

ทั้งนี้ วัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า มี 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่ 1.ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรควิตกกังวล สมาธิสั้น 2.มีโรคเรือรังทางกาย เช่น โรคมะเร็ง โรคไต โรคที่จำกัดกิจกรรมทางร่างกาย หรือมีผลต่อภาพลักษณ์ 3.ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตสังคม เช่น อกหัก ใช้สารเสพติด ตั้งครรภ์ ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน เพื่อรังแก ถูกทารุณกรรม เป็นต้น และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีครอบครัวไม่อบอุ่น มีความขัดแย้งในครอบครัว รวมทั้งการขาดทักษะการจัดการอารมณ์ตนเอง 

“ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เร่งแก้ไขและป้องกันปัญหา โดยได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์พัฒนาแนวทางการดูแล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของวัยรุ่นที่มีปัญหาและได้รับการดูแลตั้งแต่ต้น ซึ่งที่ผ่านมาวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ยังเข้าถึงบริการน้อย” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กทม. กล่าวว่า สถาบันฯได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นการเฉพาะ เพื่อให้แพทย์ใช้ในการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า มักมีอาการแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมต่างไปจากวัยอื่น เช่นมาด้วยพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง การทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น หรือมาด้วยปัญหาอารมณ์ก้าวร้าว ปัญหาการกิน การอดอาหาร 

แต่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา หรือแม้แต่คนในครอบครัวเอง ส่วนใหญ่ยังมีความไม่เข้าใจ อาจมีทัศนคติในการตัดสินต่อพฤติกรรม การแสดงออกได้ วัยรุ่น จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ต้น 

จากการศึกษาในประเทศไทยขณะนี้ พบปัญหาโรคซึมเศร้าในเด็กวัยเรียนร้อยละ 2 ในวัยรุ่นพบได้มากถึงร้อยละ 40-49 และพบเด็กที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงร้อยละ 13-22 เป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 3 ของวัยรุ่น และเป็นสาเหตุการตายหลักของกลุ่มเยาวชนทั่วโลก แต่กลุ่มนี้ยังเข้าถึงบริการน้อย  

ขณะที่สถานการณ์ด้านพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การมีเพศสัมพันธ์ การทำร้ายตัวเอง การใช้ความรุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง    

แพทย์หญิงมธุรดากล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า มี 4 ส่วนหลักได้แก่การประเมินคัดกรองปัญหาซึมเศร้า การวินิจฉัยที่ครอบคลุมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งได้จากประวัติของวัยรุ่นเองและผู้ปกครอง การตรวจร่างกาย การตรวจสภาพทางจิต ตั้งแต่ลักษณะทั่วไป การแต่งกาย การพูด อารมณ์ ความคิด การให้การรักษาทั้งด้วยยา และการทำจิตบำบัดเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมที่นำไปสู่อารมณ์ทางบวก ปรับความคิดที่นำไปสู่อารมณ์ทางลบ คาดว่าจะสามารถใช้ทั่วประเทศในเร็วๆนี้

อย่างไรก็ดี ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ ป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นได้ โดยการให้ความรัก ความเข้าใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก จัดการความขัดแย้งในครอบครัว ส่งเสริมให้วัยรุ่นให้เข้มแข็ง รู้จักใช้เหตุผล ควรแก้ไขปัญหาร่วมกับวัยรุ่นในทางที่เหมาะสม  

“สำหรับวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงในระดับโรงเรียน ควรมีระบบเฝ้าระวัง และป้องกันภาวะซึมเศร้า เช่น อาจจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังเข้มแข็งทางใจ เสริมสร้างศักยภาพที่ถนัด เป็นต้น” แพทย์หญิงมธุรดากล่าว