สธ.อึ้ง!สำรวจพบ “วัยโจ๋” กว่า 5 แสนคน คิดอยากตาย


เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันราชานุกูล กทม. และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและติดผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคในการจัดบริการแก่ผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น ที่ป่วยเป็นโรคจิตเวชหรือมีปัญหาสุขภาพจิต ในปีงบประมาณ 2560

โดยนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองระบุว่า สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯได้ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำรวจในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีที่ 5 และอาชีวศึกษา จำนวน 42 จังหวัดทุกเขตสุขภาพที่มี 13 เขตทั่วประเทศ

ล่าสุดในปี 2559 ผลปรากฏว่าในช่วง 6 เดือนก่อนสำรวจ วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิต และมีความคิดอยากตาย หรือคิดว่าตายไปจะดีกว่าเฉลี่ยร้อยละ 14 หรือประมาณ 560,000 คน จากเด็กวัยนี้ที่มีทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน สูงที่สุดในเขตสุขภาพที่ 4 ซึ่งเป็นจังหวัดรอบๆ ปริมณฑล ร้อยละ 23

รองลงมาคือกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 22.8 และจังหวัดแถบภาคกลางในเขตสุขภาพที่ 5 เช่นกาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี สมุทรสาคร ร้อยละ 21.6 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก 

เนื่องจากเด็กนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือป่วยเป็นโรคทางจิตเวช จะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ มีปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรม ความก้าวร้าว การใช้สารเสพติด การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ติดเชื้อเอชไอวี กระทำผิดกฎหมายกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีผลสำรวจในปี 2559 เช่นกันว่า เด็กวัยนี้พึ่งเหล้าสูงถึงร้อยละ 12 ด้วย

การแก้ไขป้องกันปัญหาวัยรุ่น ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่ายอย่างจริงจังเป็นองคาพยพ เชื่อมต่อกันตั้งแต่สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐเอกชน ชุมชน ครอบครัว โดยกรมสุขภาพจิต ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยสุขภาพและพัฒนาการวัยรุ่น พ.ศ.2560-2569 เป็นแผน10 ปี ครั้งแรกในประเทศ แผนนี้ครอบคลุมการดูแลเด็กอายุ 10-19 ปี ซึ่งมีประมาณ 9 ล้านคน เนื่องจากวัยรุ่นเป็นช่วงทศวรรษที่ 2 ของชีวิต เป็นระยะเวลาสำคัญของการเจริญเติบโต และพัฒนาการจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างการเจริญเติบโตที่ดี ส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่น ซึ่งการลงทุนทางสังคมในช่วงนี้มีความสำคัญมาก 

“นักจิตวิทยาทั่วโลกระบุว่า ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมส่วนบุคคลและทางสังคมที่ได้มาในช่วงวัยรุ่น เช่น การสูบบุหรี่ เพศสัมพันธ์ ดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด สุขนิสัยการบริโภค การจัดการความขัดแย้งและความเสี่ยง จะอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ซึ่งกรมฯได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ เป็นแกนหลักในการประสานงาน” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ระดับชาตินี้มี 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ระบบสุขภาพวัยรุ่นที่มีการบริหารจัดการและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพสูง 2.การลงทุนด้านองค์ความรู้การวิจัยและนวตกรรม 3.การพัฒนาการจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับวัยรุ่น และ 4.การเสริมสร้างพลังอำนาจในวัยรุ่น การมีส่วนร่วมของชุมชนและสมรรถภาพของบุคลากรสาธารณสุข 

ซึ่งจะมีการประชุมร่วมขับเคลื่อนบูรณาการกลไกตั้งแต่ระดับชาติลงไปจนถึงระดับอำเภอ ตำบล ในวันที่ 27 กันยายน 2560 ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ในวันดังกล่าวจะมีหลายหน่วยงานร่วมประชุม อาทิ องค์การยูนิเซฟ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเป็นต้น 

ตามแผนชาตินี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ความรู้ด้านวัยรุ่นระดับประเทศที่สถาบันเด็กและวัยรุ่นฯ เป็นฐานข้อมูลทั้งทางด้านความรู้ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อวัยรุ่น ทั้งกลุ่มวัยรุ่น เยาวชน ครู อาจารย์ บุคลากรสุขภาพ พ่อแม่ เพื่อออกแบบบริการสุขภาพอย่างเหมาะสม

แพทย์หญิงมธุรดากล่าวต่อว่า สำหรับงานบริการของสถาบันเด็กและวัยรุ่นฯในปี 2560 นั้น มีเด็กและวัยรุ่นเข้ารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ประมาณ 9,000 คน ปัญหาที่พบอันดับ 1 ได้แก่ โรคสมาธิสั้น จำนวน 4,847 คน รองลงมาคือโรคออทิสติก จำนวน 1,676 คน  

ขณะที่โรคสมาธิสั้นเฉลี่ยทุกเขตสุขภาพเข้าถึงบริการร้อยละ 12 เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือร้อยละ 8 เด็กที่เป็นโรคนี้พบได้ในเด็กวัยเรียนร้อยละ 5-12 ซึ่งต้องได้รับการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาเมื่อโตขึ้นจะมีความเสี่ยงหลายด้าน

เช่น ติดยาเสพติดสูงกว่าเด็กปกติประมาณร้อยละ 15 เรียนไม่จบมากกว่าร้อยละ 20 จบ ป.ตรีน้อยประมาณร้อยละ 10 โอกาสที่จะได้ตำแหน่งงานดีน้อยประมาณร้อยละ 3 ขณะที่เด็กปกติมีโอกาสมากถึงร้อยละ 21 โดยสถาบันฯจะขยายบริการดูแลเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาพฤติกรรมอารมณ์รุนแรงแบบผู้ป่วยในในปี 2561 ที่ รพ.ศรีธัญญา  

สำหรับประเด็นที่จะเร่งแก้ไขอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323  ซึ่งขณะนี้มี 12 คู่สาย ไม่เพียงพอ ในปีนี้มีประชาชนโทรเข้า 432,660  สาย แต่สามารถรับสายให้บริการเพียง 1 ใน 4 หรือ 1 แสนกว่าสายเท่านั้น

ปัญหาอันดับ 1 ได้แก่ เครียด ร้อยละ 33 รองลงมาคือป่วยจิตเวช ร้อยละ 30 เรื่องความรัก ร้อยละ 7 เรื่องเพศ ร้อยละ 5 และครอบครัวร้อยละ 3  ในปี 2561 นี้จะขยายเพิ่มเป็น 30 คู่สาย ขณะเดียวกันได้ปรับเวลาให้บริการปรึกษาปัญหาทางเฟซบุ๊ค 1323 ให้เหมาะสมจากเดิมเวลา 17.00-22.30 น. เป็น 14.30-22.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนโทรเข้ามาปรึกษาบ่อยที่สุดด้วย