สบส.พัฒนา “รถเข็นย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน” ต้นแบบใช้ในถิ่นทุรกันดาร


นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปี 2560 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้พัฒนาออกแบบโครงสร้างและประดิษฐ์รถเข็นย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินต้นแบบในถิ่นทุรกันดาร โดยได้ปรับปรุงให้เข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปใช้ในการลงพื้นที่สุขศาลาพระราชทาน

โดยรถเข็นสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีเส้นทางแคบหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถนำรถยนต์เข้าถึงได้ ช่วยผ่อนแรงและลดจำนวนบุคลากรในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวาง สามารถทำหัตถการได้ เช่น การเจาะเลือด การทำแผล การให้น้ำเกลือ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนของผู้ป่วย

ซึ่งขณะนี้ได้นำรถเข็นย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินต้นแบบในถิ่นทุรกันดารที่พัฒนาแล้ว ไปใช้ในพื้นที่สุขศาลาพระราชทาน ในเขตพื้นที่สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1, 2, 5 และกองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ด้านนายสุรพันธ์ ชัยล้อรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า กองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ออกแบบรถเข็นย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินต้นแบบในถิ่นทุรกันดาร มาตั้งแต่รุ่นแรกที่ได้นำชุดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปทดลองใช้ในพื้นที่สุขศาลาพระราชทานบ้านโป่งลึก อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

หลังการทดสอบการใช้งานแล้ว กรณีเส้นทางขรุขระจะรู้สึกสะเทือนบ้าง ส่วนการเคลื่อนย้ายโดยล้อเลื่อนและแผ่นกระดาษรองหลังที่มีเข็มขัดนิรภัยสามารถใช้งานได้ดี มีความมั่นใจในความปลอดภัยขณะเคลื่อนย้าย

กรม สบส. จึงได้พัฒนารถเข็นย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินต้นแบบในถิ่นทุรกันดาร รุ่นที่ 2 ซึ่งได้พัฒนาระบบรองรับการสั่นสะเทือน โดยการปรับปรุงโครงสร้างและติดตั้งโช๊คอัพ เพื่อรองรับการสั่นสะเทือนในพื้นที่ที่ขรุขระ และปรับชุดล็อก น้ำเกลือเสาน้ำเกลือให้ยึดติดกับแผ่นกระดานรองหลัง เพื่อให้เคลื่อนย้ายไปด้วยกันกับผู้ป่วยในทุกกรณี

ได้นำรถเข็นย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินต้นแบบที่ปรับปรุงนำไปทดลองใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยลงพื้นที่สุขศาลาพระราชทานบ้านปิล็อกคี่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จากการทดลองใช้พบว่า สามารถลดการสะเทือนในการเข็นในเส้นทางขรุขระได้พอสมควร และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ล่าสุด รุ่นที่ 3 ได้มีการปรับเปลี่ยนวัสดุโครงสร้างของชุดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินจากเดิมเป็นเหล็กซึ่งใช้ในพื้นที่สุขศาลาพระราชทานที่เป็นพื้นที่ที่มีฝนและความชื้นสูง อาจเกิดสนิมที่พื้นผิววัสดุ จนมีผลกระทบกับผู้ป่วยและผู้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีแผลเปิด

จึงเปลี่ยนเป็นวัสดุอลูมิเนียมซึ่งไม่เกิดสนิม เปลี่ยนขนาดวงล้อจากเดิมที่ใช้วงล้อขนาด 24 นิ้ว เปลี่ยนเป็น ล้อขนาด 8 นิ้ว แบบ 3 แฉก 3 ล้อ เพื่อลดอุปสรรคจากตอไม้หรือพื้นที่ต่างระดับ และยังพัฒนาอุปกรณ์ค้ำล้อประคองจากเดิมเป็นแบบบานพับเปลี่ยนเป็นแบบสลักล็อกเพื่อให้มั่นคงมากขึ้น

“ทั้งนี้ รถเข็นย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินต้นแบบในถิ่นทุรกันดาร สามารถช่วยผู้ป่วยหรือประชาชนให้ปลอดภัยมากขึ้นจากการเคลื่อนย้ายไปสุขศาลาพระราชทานหรือสถานบริการสุขภาพ ลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ช่วยผ่อนแรงและลดจำนวนบุคลากรในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี” ผอ.กองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าว