หมอเตือน!เบลอ-วูบบ่อย เสี่ยงโรคลมชัก พบ!คนไทยป่วยพุ่ง6แสนคน


นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคลมชัก (Epilepsy) ว่า โรคนี้คนไทยเรียกว่าลมบ้าหมู จัดเป็นโรคของการเจ็บป่วยทางสมอง พบได้ทุกเพศทุกวัย

นอกจากพบในผู้ป่วยที่มีบกพร่องทางสติปัญญา โรคออทิสติกแล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนที่มีร่างกายแข็งแรง สาเหตุเกิดจากเซลล์สมองที่มีนับล้านเซลล์ ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกันเหมือนวงจรไฟฟ้า ปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน ทำให้การควบคุมการทำงานของสมองเสียไปชั่วคราว 

โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากกรรมพันธุ์ ติดเชื้อในสมอง สมองขาดอ๊อกซิเจน ดื่มสุรา อุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง หรือเซลล์สมองอยู่ผิดที่ หรือมีเนื้องอกในสมอง ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 50 ล้านคน โดย 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย    

ส่วนในประเทศไทยคาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 1 หรือมีประมาณ 650,000 คน ทั่วประเทศ แต่สถิติการเข้ารับการรักษาพบว่ามีน้อยประมาณร้อยละ 10 เช่น ในปี 2558 มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวน  79,385 คน เป็นชาย 49,100 คน หญิง 30,285 คน

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักเข้ารับการรักษาน้อย ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเชื่อว่าเป็นโรคที่เกิดจากไสยศาสตร์ และเกิดมาจากการขาดความเข้าใจในเรื่องของอาการ ซึ่งมี 2 ลักษณะอาการใหญ่ๆ คือชักกระตุกเกร็งไปทั้งตัวคล้ายกับลมบ้าหมู การชักแบบนี้จะเห็นได้ชัดเจน คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและรู้จักว่าโรคลมบ้าหมู 

แต่อาการอีกลักษณะหนึ่งที่พบบ่อยทึ่สุดขณะนี้คือ อยู่ดีๆ ก็มีอาการแบบเบลอๆ เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว หรือที่เรียกว่าอาการวูบไปชั่วขณะ อาจมีตาค้างหรือตาเหลือกด้วยก็ได้ ส่วนมากมักพบในเด็กอายุ 6-14 ปี อาการของโรคลมชักชนิดนี้ คนไทยยังรู้จักน้อยมาก และมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการวูบหรือเป็นลมทั่วไป จึงไม่ไปรักษา   

“อย่างไรก็ตาม อาการชักที่เกิดจากคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกตินี้อาจปรากฏแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกิดขึ้นที่สมองส่วนใด เช่น หากเป็นที่เป็นที่สมองส่วนควบคุมกล้ามเนื้อ ก็อาจเกิดการกระตุกเกร็งแขนขาซีกเดียวก็ได้” 

นพ.พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนที่มีอาการที่กล่าวมาทั้ง 2 ชนิดอาการ อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน  เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการชักให้เร็วที่สุดและให้การรักษาตามสาเหตุ

เช่น หากอาการชักเกิดจากคลื่นสมองผิดปกติทั่วไป จะให้การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการชัก โดยปรับกระแสไฟฟ้าในสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ป้องกันเซลล์สมองถูกทำลาย หากเกิดจากเนื้องอกในสมองก็อาจใช้วิธีการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก เป็นต้น  

หากผู้ที่มีอาการชักได้รับการรักษาเร็ว โดยเฉพาะหลังจากมีอาการครั้งแรก จะมีโอกาสหายขาดได้สูง สามารถเรียนหนังสือ หรือทำงานที่เหมาะสมได้ แต่หากไม่รักษาก็จะมีอาการชักปรากฏบ่อย 

บางรายอาจเกิดเป็นชุดๆหรือเกิดตลอดวันก็ได้ จะมีผลเสียที่เป็นอันตราย  โดยเฉพาะการชักแบบลมบ้าหมู อาจทำให้เซลล์สมองตาย และทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาได้ประมาณร้อยละ 30 ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวประชาชนที่ไม่ควรมองข้าม

นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าวด้วยว่า ในการรักษาโรคลมชักนั้น ผู้ป่วยจะต้องยึดหลักปฏิบัติย่างเคร่งครัดคือกินยาต่อเนื่อง  อย่าหยุดยาเอง และไม่ลดจำนวนยาเอง ต้องใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะควบคุมอาการชักได้ผลดี โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับลดหรือหยุดยาเอง  ผู้ป่วยประมาณกว่าร้อยละ 70 จะมีโอกาสหายขาด อีกร้อยละ 30 มีอาการดีขึ้น แม้ไม่หายชักทั้งหมดก็ตาม

ที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคลมชัก มักจะไม่กินยาตามแผนการรักษาของแพทย์   เพราะเข้าใจผิดว่ายาจะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้โง่ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นยาที่รักษาไม่ได้ทำให้โง่ เพียงแต่ยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยคิดช้า หรือมีอาการเซื่องซึมในระยะต้นๆ เมื่อเริ่มกินยาเท่านั้น  การกินยาต่อเนื่อง จะทำให้การรักษาได้ผล และสามารถป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนทางจิตเวชได้ด้วย

เด็กที่เป็นโรคลมชัก ส่วนใหญ่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนกับเด็กทั่วไป มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีปัญหาด้านสติปัญญาและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยครูและเพื่อนต้องทราบวิธีการช่วยเหลือทั้งในด้านการเรียนและในด้านการเจ็บป่วยที่ถูกต้อง เพื่อนร่วมชั้นไม่ควรล้อเลียนเพื่อนที่เป็นโรคลมชัก   

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป 2-3 เท่าตัว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชัก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งมีโอกาสเกิดในน้ำตื้นๆ ก็ได้ ดังนั้น จึงขอให้ผู้ป่วยโรคลมชักหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ และการออกไปหาปลา 

สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่กำลังมีอาการชัก ประชาชนที่พบเห็นขอให้ตั้งสติให้ดี ระวังไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการชัก ไม่สำลักน้ำลายหรืออาหาร โดยให้จับศีรษะและลำตัวตะแคงไปด้านข้าง และดูแลไม่ให้มีสิ่งของที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น กาน้ำร้อน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นของแข็ง เพื่อไม่ให้แขนขาของผู้ป่วยมากระแทก  

“หากเป็นไปได้ ให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของอาการชักที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปให้แพทย์วินิจฉัยแยกอาการชักจากโรคลมชักกับโรคอื่นๆ ด้วย จะช่วยให้การรักษาแม่นยำ” นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าว