สธ.แจง!ยารักษาโรคจิตเภท มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยรอบ 10 เดือนปีนี้ ผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงบริการรักษากว่า 500,000 คนทั่วประเทศ แต่ยังพบปัญหาอาการป่วยกำเริบซ้ำบ่อยจากการกินยาไม่สม่ำเสมอสูงถึงร้อยละ 50 ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากความไม่มั่นใจคุณภาพยาที่ได้รับ เนื่องจากสีของยาไม่เหมือนเดิม จึงไม่กิน ยืนยันโรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยามาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้  นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 จ.นครสวรรค์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช และการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตใน 5 จังหวัดที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2560  ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร และพิจิตร ประชาชนประมาณ 5 ล้านคน

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตได้เร่งขยายบริการด้านสุขภาพจิตเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้มีอาการป่วยทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคจิตเภท (Schizophrenia) ให้ได้ร้อยละ 65 ของผู้ป่วยทั้งหมด  ซึ่งพบอัตราป่วยร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 650,000 คน 

โรคนี้มีอาการผิดปกติทางความคิด มีพฤติกรรมการรับรู้และอารมณ์ที่ผิดไปจากคนทั่วไป เช่น คิดว่ามีคนจะมาทำร้าย ระแวงว่าจะถูกวางยาพิษ มองเห็นวิญญาณ  หูแว่ว  ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นในช่วงปลายวัยรุ่นตั้งแต่อายุประมาณ 16-18 ปี  แต่ขณะนี้มีรายงานพบได้อายุน้อยลงคือ  10 ปี  เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถดำเนินชีวิตประจำวันเท่ากับผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตทั้งตัวตั้งแต่คอลงไป   

ซึ่งผลการดำเนินการของสถานพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 3 พบว่าผู้ป่วยเข้าถึงบริการร้อยละ 68 จำนวน 33,647 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 11  ในภาพรวมของประเทศขณะนี้นับว่าดีขึ้นมาก ในรอบ10 เดือนปีงบประมาณนี้ มีผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการจำนวน 570,000 กว่าคน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคจิตเภทประมาณร้อยละ 90 จะมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย  ซึ่งสาเหตุกว่าร้อยละ 50 เกิดมาจากการขาดยาซึ่งเป็นหัวใจหลักของการรักษาโรค ผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับยาประมาณ 3-4 ขนาน สาเหตุที่ผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่เชื่อมั่นในคุณภาพยา โดยเฉพาะสีของเม็ดยาที่ได้รับไม่เหมือนเดิม จึงไม่กินยาต่อ โดยที่ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ฯพบปัญหานี้ร้อยละ 45

ขอยืนยันความมั่นใจผู้ป่วยและญาติว่า ยารักษาโรคจิตเภทที่โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้ในขณะนี้คือยาขนานเดียวกัน แต่อาจมีสีไม่เหมือนกันเพราะผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างกัน แต่ยามีประสิทธิภาพเหมือนกัน จึงไม่ควรยึดติดกับสีเม็ดยา  ขอให้ผู้ป่วยกินยาที่แพทย์จ่ายให้อย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดหรือลดยาเองอย่างเด็ดขาด เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะไปปรับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองให้สมดุล จะรักษาอาการประสาทหลอนและอาการหลงผิดให้หาย อาการจะไม่กำเริบ สามารถใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานประกอบอาชีพได้ 

“ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ฯ เร่งพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคจิตเภทและเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะของกรม  เพื่อถ่ายทอดวิชาการเทคโนโลยีความก้าวหน้าลงสู่โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยในประเทศให้ดียิ่งขึ้น” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว    

ด้าน นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 นี้ มีผู้ป่วยจิตเภทเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลฯทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวม 2,083 คน จำนวน 8,918 ครั้ง เฉลี่ยนอน 30 วันต่อคน 

ปัญหาที่พบได้บ่อยคือผู้ป่วยร้อยละ 50 มีอาการป่วยกำเริบต้องกลับเข้ามารักษาซ้ำภายหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลไม่กี่เดือน จึงได้พัฒนาระบบบริการเพื่อป้องกันอาการกำเริบ 3 รูปแบบ เน้นการให้ความรู้ทั้งญาติและผู้ป่วย ให้มีความเข้าใจให้ถ่องแท้ ในเรื่องโรค สาเหตุ อาการป่วย การดูแล วิธีจัดการความเครียด ทักษะการสื่อสารกับผู้ป่วย โดยทีมสหวิชาชีพทั้งจิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร ประกอบด้วย 1.เปิดคลินิกใจดีบริการผู้ป่วยนอก ดูแลทั้งเรื่องยารักษาและการให้ความรู้ในการใช้ชีวิตในสังคม    

2.การจัดค่ายอุ่นใจ สำหรับผู้ป่วยใน ส่งผลช่วยให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจโรคดีขึ้น มีคะแนนความรู้ความเข้าใจ 7-9 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน ญาติพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 95 การดูแลผู้ป่วยดีขึ้นเนื่องจากมองผู้ป่วยด้วยความเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นภาระครอบครัว ทำให้อัตราป่วยซ้ำลดลงเหลือร้อยละ 10 ในปีนี้พบเพียง 28 คน  

และ 3.การจัดบริการผู้ป่วยที่บ้านในชุมชน (Home ward) ซึ่งดำเนินการมา 10 กว่าปี เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเภทเริ้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยการสร้างผู้ดูแลเบอร์ 2 ( Care giver ) ซึ่งไม่ใช่ญาติของผู้ป่วยโดยตรง เป็นเครือข่ายทั้งนอกและในระบบบริการสุขภาพ เช่น เพื่อนบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. พระ มัคทายก เทศบาล อบต. อปท. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลชุมชน มาช่วยดูแลผู้ป่วยในชุมชนในกรณีที่ญาติไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้   

พบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยอาการทางจิตสงบ อยู่กับครอบครัวและชุมชนได้ โดยผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถอยู่ในชุมชนโดยไม่มีอาการกำเริบนานถึง 10 ปี ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนในโครงการทั้ง 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 3 รวม 126 คน มีผู้ดูแลเบอร์ 2 จำนวน 300  คน ญาติพึงพอใจมาก เพราะผู้ป่วยกว่าร้อยละ 50  ประกอบอาชีพร่วมกับครอบครัว ที่เหลือช่วยทำงานได้

มีพื้นที่ต้นแบบ 5 แห่ง  ประกอบด้วย จ.กำแพงเพชรที่ ต.ป่าพุทรา อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.นครสวรรค์ที่ ต.มหาโพธิ์ อ.เก้าเลี้ยว จ.ชัยนาทที่ ต.กบกเตี้ย อ.หันคา   จ.พิจิตรที่ อ.ทับคล้อ และ จ.อุทัยธานีที่ อ.ทัพทัน และ อ.สว่างอารมณ์ 

“สำหรับที่นครสวรรค์ได้ต่อยอดโดยบูรณาการกับระบบสุขภาพอำเภอ พัฒนาเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทระดับตำบลครอบคลุมทั้งอำเภอเป็นต้นแบบ เพื่อขยายผลครอบคลุมพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 3 ภายใน 5 ปี” ผอ.รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์กล่าว