ฑีกายุกา โหตุ มหาราชินี ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

             ฑีกายุกา  โหตุ  มหาราชินี ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจวบจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยทรงดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า และประชาชนมีความผาสุก ร่มเย็น ทรงรักและห่วงใยประเทศชาติและประชาชนเหมือน “แม่ที่รักและห่วงใยลูกอยู่ตลอดเวลา”

                        ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ อันเป็นวาระดีถีที่เป็นสิริมงคลแก่ประชาชนคนไทย ที่จะได้พร้อมใจกันทำความดีสืบสานพระราชปณิธานสนองพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงอาณาประชาราษฎรโดยมิได้ทรงคำนึงถึงความเหนื่อยยากพระวรกาย ไม่ว่าจะทรงบุกป่า ลุยน้ำ กรำแดด ลมและฝน ก็มิทรงย่อท้อด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่นยังประโยชน์สุขให้เกิดราษฎรของพระองค์ให้จงได้ 

                        สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระราชสมภพ ณ บ้านพักของท่านพระยาวงษานุประพันธ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สิริกิติ์”

                        สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินีล่าง แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังต์ ซีสซาเวียร์ ตำบลสามเสน และเมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ได้เสด็จตามพระราชบิดาซึ่งไปดำรงตำแหน่เอกอัครราชทูตประจำกรุงปารีส และโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และทรงศึกษาด้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอย่างดี

                        สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ครั้งแรก ณ ฟองเทนโบล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ จนเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงประกอบพิธีหมั้นกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และทรงให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวังสระปทุม เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการดำรัสให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

                        เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระราชินีให้ทรงฐานันดรเพิ่มขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี และเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาได้ทรงพระผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นอย่างดีทุกประการ

                        ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” นับเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถองค์ที่สองแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี

                        พระราชกรณียกิจมากมายหลายด้านที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงบำเพ็ญด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยะ อุตสาหะและขันติธรรม ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงเมตตา และทรงห่วงใยในพสกนิกรและแผ่นดินเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยทรงงานเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อยู่เสมอ ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ ของราษฎร และนำมาซึ่งโครงอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการช่วยเหลือราษฎรมากมาย เกิดประโยชน์หลายด้าน ดังที่ได้ทรงเคยมีพระราชดำรัสถึงเหตุที่ต้องทรงงานหนัก พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ ความตอนหนึ่งว่า

 ฑีกายุกา  โหตุ  มหาราชินี ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน“...ความจริงที่ข้าพเจ้ามีกำลังใจ และกำลังกายที่จะปฏิบัติหน้าที่รับใช้บ้านเมือง ก็เนื่องด้วยเหตุนึกถึงคำของพ่อที่สอนมาตั้งแต่เล็กๆ และก็เมื่อแต่งงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสอนตลอดมาว่า แผ่นดินนี้มีคุณ มีบุญคุณแก่ชีวิตของพวกเรามากมายนัก เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เกิดมานี้อย่าได้ว่างเปล่า จงตอบแทนให้รู้สึกตัวเสมอว่า เป็นหนี้บุญคุณ...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้ารู้สึกว่า ทำงานเท่าไรก็ยังไม่คุ้ม ยังไม่สมกับที่บรรพบุรุษของเผ่าไทยทั้งหลาย ผู้มีพระคุณ ผู้ที่ได้ปกป้องยึดผืนแผ่นดินนี้ได้มาตลอด แล้วดูตามประวัติศาสตร์แล้ว ท่านทั้งหลายได้ประสบความทุกข์ยากอย่างมากมาย ท่านทั้งหลายก็แน่วแน่ในปณิธานที่จะทำนุบำรุงผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้เป็นแผ่นดินที่ร่มเย็น เป็นแผ่นดินที่ทุกคนมีอิสระเสรีที่จะมีความเชื่อถือในศาสนาใดก็ได้ มีความสงบสุขอยู่ในศาสนาของตนโดยที่ไม่มีการข่มเหงรังแกบีบคั้น อันนี้เป็นลักษณะประเสริฐของบรรพบุรุษของไทยทั้งหลาย ซึ่งข้าพเจ้าอยากขอให้ทุกท่านนำคำพูดของข้าพเจ้าไปคิดดูให้ดี แล้วก็จะเห็นว่า ข้าพเจ้านั้นไม่ได้ดีวิเศษอะไรเลย เพียงแต่ว่าเมื่อนึกถึงพระคุณอย่างนี้แล้ว ก็ต้องยิ่งพยายามที่จะทำให้สุดความสามารถ...”

                พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีหลายด้าน แต่ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม พระราชกณียกิจนั้นล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยในประชาราษฎร และแผ่นดินไทย ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการอาสาสมัครและอาสาสมัครสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๐ ความตอนหนึ่งว่า

                “...เรามีความสุขแต่ลำพังโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนอีกหลายคนที่แวดล้อมเราอยู่นั้นไม่ได้ ผู้มีเมตตาจิตหวังของประโยชน์ส่วนรวมย่อมรู้จักแบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่น และพร้อมที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นตามกำลัง และโอกาสเสมอ...”

                พระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ ความตอนหนึ่งว่า

                “...เราเรียกแผ่นดินนี้ว่าแผ่นดินแม่ เพราะแผ่นดินนี้เป็นที่เกิดและเลี้ยงดูคนไทยมากว่า ๗๐๐ ปี ควรที่เราทั้งหลายจะบำรุงรักษาแผ่นดินให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ ถ้าเรามัวแต่ตักตวงผลประโยชน์จากผืนดิน...สักวันหนึ่งแผ่นดินแม่คงตายจากเราไป โดยไม่มีวันหวนกลับคืนมา คงเหลือไว้ซึ่งพื้นดินที่แห้งแล้ง สิ้นสภาพจากการเป็นดินที่จะทำการเพาะปลูกได้ คงจะมีแต่ฝุ่นตลบไปหมด เสมือนแผ่นดินที่ไร้วิญญาณ ไร้ความหมายใดๆ ต่อชีวิตบนผืนโลก ขณะนี้เรายังมีเวลาและโอกาสที่จะฟื้นฟูรักษาแผ่นดินแม่...”

                ด้วยพระราชปณิธานข้างต้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงเสด็จฯไปทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าหนทางจะยากลำบากเพียงใด หรือต้องทรงงานโดยใช้เวลายาวนานเท่าใด จะทรงรับฟังทุกข์สุขของพสกนิกรที่มาเข้าเฝ้าฯและรับเสด็จอย่างตั้งพระทัย และพระราชทานแนวทางการแก้ไขให้หน่วยงานราชการต่างๆ รับไปดำเนินการ

                จากที่มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้การทรงงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พบว่า ในการทรงช่วยเหลือพสกนิกรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายนั้น “ทรงทำตามและยึดหลักแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” โดยตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญ ๕ ประการ ได้แก่ ประการแรก ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นฐานของประเทศ อันได้แก่ “ชนบท” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหาร และ “เกษตรกร” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประการที่สอง ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มี “คน” เป็นศูนย์กลาง

                ประการที่สาม ทรงให้ความสำคัญกับ “โอกาส” ของราษฎรที่จะได้รับการพัฒนาหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นราษฎรในภูมิภาคใดของประเทศ นับถือศาสนา หรือพูดภาษาใดก็ตาม ไม่ทรงแบ่งแยกหรือเน้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทรงเห็นว่าราษฎรนั้นมีศักยภาพและความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่ให้โอกาสเขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเท่านั้น ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ ประการที่สี่ ทรงให้ความสำคัญกับการ “พัฒนาด้านจิตใจ” ของคนในชาติให้มีคุณธรรมและจริยธรรม นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ประการที่ห้า ทรงให้ความสำคัญกับการทรงงานพัฒนาเพื่อ “เสริมและสนับสนุน” งานพัฒนาของรัฐบาล

               สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต อาชีพ และความเป็นอยู่ของบุคคลผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบทห่างไกล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทั่วทุกหนแห่งในแผ่นดินไทยนี้

               โครงการที่มีสาขาขยายกว้างขวางไปทั่วประเทศโครงการหนึ่งก็คือ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งในภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งเป็นรูปมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์" เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2519 และเมื่อ พ.ศ.2528 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นการส่งเสริมอาชีพ และขณะเดียวกันยังอนุรักษ์และส่งเสริมงานศิลปะพื้นบ้านที่มีความงดงามหลายสาขา เช่น การปั้น การทอ การจักสาน เป็นต้น

               นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการด้านสาธารณสุข โดยได้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย และหากเสด็จฯเยือนต่างประเทศก็มักจะทรงถือโอกาสเสด็จฯทอดพระเนตรกิจการกาชาดของประเทศนั้นๆ เพื่อทรงนำมาปรับปรุงกิจการสภากาชาดไทยอยู่เสมอ

               สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

               เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นฐานการดำรงชีวิตของพสกนิกร คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 ถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" แด่พระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณของรัฐบาล และปวงชนชาวไทย ในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

               ในด้านการเกษตร จะทรงเน้นในเรื่องของการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีราคาถูก ใช้เทคโนโลยีง่าย ไม่สลับซับซ้อน เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้

                นอกจากนี้ ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะอาจเกิดปัญหาอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ หรือความแปรปรวนทางการตลาด แต่เกษตรกรควรจะมีรายได้จากด้านอื่นนอกเหนือไปจากการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และไม่เพียงพอ

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอย่างมาก โดยสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงให้ความสำคัญการปลูกป่าอันเป็นการสนับสนุน เพื่อให้เป็นแหล่งดูดซับความชุ่มชื้นซับน้ำไว้ใต้ดินเพื่อให้รักษาแหล่งน้ำไว้ได้มากที่สุด

                 ดั่งพระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๕ พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภัคดีต่อน้ำ...พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า

                ในวารดิถีอันเป็นมหามงคลเวียนมาบรรจบเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคล ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยบันดาลดลให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ และทรงสถิตย์เป็นพระมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดไป ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

                                                                               ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ